รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้พูดถึงสถานการณ์ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่า 30 % ว่า นักลงทุนขาดความมั่นใจในเงินรูเบิลของรัสเซีย เพราะถูกตัดแขนตัดขาในเรื่องของเงินรูเบิล ตั้งแต่ให้ธนาคารกลางเข้าไปแทรกแซงเงินรูเบิล ก็ถูกบล็อก ในตะกร้าเงินของรัสเซียกว่า 60 % เป็นสกุลเงินของยุโรป, ดอลลาร์สหรัฐ,ปอนด์อังกฤษ ประมาณ 14 % เป็นเงินหยวนจีน และ 20 % ก็เป็นทองคำ
คำถามที่ว่า ปูตินมีการเตรียมตัวเอาไว้ก่อนหรือไม่นั้น คิดว่ามีความเป็นไปได้ เพราะกรณีของรัสเซีย-ยูเครนไม่ใช่เรื่องของประเทศสองประเทศเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะเป็นวงกลุ่มใหม่ อย่างรัสเซีย, จีน, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ ที่มีพี่ใหย่อยู่สองประเทศด้วยกันก็คือรัสเซียกับจีน ที่จะก่อให้เกิดการผลักดันเงินหยวนและลดค่าเงินยูโรให้อ่อนค่าลง ส่วนอีกวงหนึ่งก็จะเป็นกลุ่มเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป-สหรัฐอเมริกา ส่วนอาเซียนที่อยู่ตรงกลางก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเกี่ยวก้อยไปทางไหนหรืออาจจะมีการเกี่ยวก้อยกับทั้ง 2 วง ส่วนเรื่องของระบบชำระเงิน SWIFT นั้น จะต้องไม่ลืมว่า เขาก็มีระบบ SWIFT ของรัสเซีย
กลยุทธ์ที่รัสเซียใช้ในการตอบโต้นั้นก็อาจจะทำไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้ประเทศเยอรมนีกำลังเริ่มวางโครงสร้างพื้นฐานเรื่องน้ำมันเพื่อที่จะไปซื้อกับแหล่งอื่นและลดการพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซีย ตอนนี้ปูตินเองก็เริ่มหมดหนทางในการรับมือแล้ว แม้จะพยายามใส่ดอกเบี้ยเต็มที่ถึง 20 % แต่ก็ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ขณะที่ฝั่งยูเครนกลับได้รับการสนับสนุนและได้รับอาวุธและเงินช่วยเหลือ
สำหรับภาวะเงินเฟ้อโลกในเวลานี้ เดิมเกิดจากการฟื้นตัวของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนต้องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ตอนนี้มีตัวแปรนั่นก็คือต้นทุนในการผลิตอย่างน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องก๊าซไม่ค่อยกังวลมากนักเพราะผู้นำอิหร่านกับกาตาร์ก็ได้ให้คำมั่นแล้วว่าจะทำการผลิตก๊าซมากขึ้น แต่ที่กังวลกับน้ำมันเพราะเป็นตัวแปรที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ตัวเลขสถาบันวิจัยจากต่างประเทศได้ประเมินเอาไว้ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 10 % ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องเจอเวลานี้ก็คือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 120 เหรียญด้วยกัน
ส่วนเศรษฐกิจไทยนั้น ไทยไม่ค่อยมีการส่งออกไปประเทศยูเครนกับรัสเซียมากนัก มีการส่งออกไปยูเครนประมาณ 5 พันล้านบาท และรัสเซียประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ในอาเซียน 10 ประเทศนั้น ประเทศที่ได้รับผลกระทบที่สุดก็คือ ประเทศเวียดนาม เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่มีการส่งออกค้าขายกับประเทศยูเครนและรัสเซียมากที่สุด ที่เน้นส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี รองลงมาจากเวียดนามเป็นประเทศอินโดนีเซียที่มุ่งเน้นส่งออกน้ำมันปาล์ม รวมไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์และไทยที่เน้นส่งชิ้นส่วนรถยนต์และยางพารา