TLI บริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของไทย เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
#หุ้นTLI #หุ้นไทยประกันชีวิต
ภาพยนตร์โฆษณาที่สามารถสร้างอารมณ์ร่วม ชนิดที่ใครได้ดูก็ซาบซึ้งน้ำตาซึมหลายต่อหลายชิ้น ได้กลายเป็นภาพจดจำของ “บมจ.ไทยประกันชีวิต” หรือ “ไทยประกันชีวิต” บริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของคนไทย
เป็นสูตรสำเร็จในการสร้างแบรนด์ และทำให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของประกันชีวิตเพื่อคนที่เรารัก ทั้งตัวเราเองหรือคนในครอบครัว และทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงประกันชีวิตที่ช่วยลดความเสี่ยงในการใช้ชีวิตได้มากขึ้น
จนในวันนี้ถ้าพูดถึงบริษัทประกันชีวิต เพื่อน ๆ นักลงทุนหลายคนคงคิดถึง “ไทยประกันชีวิต” เป็นอันดับแรก ๆ
ปัจจุบัน ไทยประกันชีวิต ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจประกันชีวิตของไทย มีจำนวนกรมธรรม์มากกว่า 4,400,000 กรมธรรม์ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565
อีกทั้งยังมีตัวแทนประกันชีวิตมากกว่า 64,000 ราย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 พร้อมส่วนแบ่งทางการตลาดในปี 2564 ประมาณ 15% ซึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงติดหนึ่งในสามอันดับแรกของบริษัทประกันชีวิตชั้นนำในประเทศไทย
ล่าสุด ไทยประกันชีวิตเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) โดยจะใช้ตัวย่อว่า TLI
กว่าธุรกิจจะเติบโตมาขนาดนี้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการปรับกลยุทธ์มานับครั้งไม่ถ้วน วันนี้ #TAMEIG #ทุกเรื่องที่นักลงทุนต้องรู้ ชวนเพื่อน ๆ นักลงทุนมาวิเคราะห์หาโอกาสลงทุนกันครับ
————
จากวันนั้นถึงวันนี้
ปี พ.ศ. 2485 ย้อนกลับไปเมื่อ 80 ปีที่แล้ว ไทยประกันชีวิตได้ถูกก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ จนถึงยุคบุกเบิกเปลี่ยนมือมาสู่คุณวานิช ไชยวรรณ ในปีพ.ศ. 2513
ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประกันชีวิตยังไม่ได้รับความนิยมในไทย และมีคนไทยบางกลุ่มที่มีความมั่งคั่งเท่านั้นที่สนใจซื้อประกันชีวิตและมักซื้อกับบริษัทประกันชีวิตต่างชาติ นั่นจึงเป็นความมุ่งมั่นของไทยประกันชีวิตที่จะอยู่เคียงข้างคนไทย และยังคงยึดมั่นในการดูแลคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน
————
จากกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง สู่ “Life Solutions Provider”
ที่น่าสนใจคือ ในช่วงแรกไทยประกันชีวิตใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ขยายตลาดในต่างจังหวัดด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบชำระเบี้ยประกันภัยแบบรายเดือนในอัตราที่สามารถจับต้องได้ พร้อมสร้างอาชีพให้กับคนไทยผ่านการเป็นตัวแทนประกันชีวิต ทำให้หลายต่อหลายคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในยุคถัดมาที่เรียกว่ายุคสร้างสรรค์ ไทยประกันชีวิตมุ่งสร้างแบรนด์ให้ได้รับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทย พร้อม ๆ กับนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ครบวงจรและหลากหลายมากขึ้น
ปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่การเป็น “Life Solutions Provider” เป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับองค์กร
จะเห็นได้ว่าจากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ไทยประกันชีวิต ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต ให้ความสำคัญกับทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และคนในสังคม
ตามแนวคิดการพัฒนาคนไทยประกันชีวิตให้เป็น “คู่คิด เพื่อทุกชีวิต รู้รอบ รอบรู้ คนดี มุ่งมั่นทำดี และ มองไกลและทุ่มเท” และนั่นคือหัวใจสู่ความสำเร็จครับ
เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจที่ผลประกอบการของไทยประกันชีวิตจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะวิกฤตโควิด-19 ครับ
————
รายได้เติบโตต่อเนื่อง
ปี 2562 รายได้รวม 108,389 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,777 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้รวม 107,642 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,692 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 109,246 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,394 ล้านบาท
ไตรมาสแรก ปี 2564 รายได้รวม 25,198 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,308 ล้านบาท
ไตรมาสแรก ปี 2565 รายได้รวม 25,955 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,793 ล้านบาท (กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน)
โดยรายได้จากธุรกิจประกันภัยอยู่ในรูปแบบของเบี้ยประกันภัย (สัดส่วน 82%) และรายได้จากการลงทุนของบริษัทฯ อยู่ในรูปแบบของดอกเบี้ยและเงินปันผล กำไรจากเงินลงทุน และรายได้อื่น (สัดส่วน 18%)
ทีม #TAMEIG วิเคราะห์ข้อมูลแล้วมองว่า ไทยประกันชีวิตมีจุดเด่นหลายอย่างที่ทำให้เป็นหุ้น IPO ที่มองข้ามไม่ได้ครับ
————
จุดเด่นของว่าที่หุ้นน้องใหม่ TLI
1.อุตสาหกรรมประกันชีวิตในไทยยังเติบโตได้อีกมาก:
สังเกตได้จาก Penetration Rate หรืออัตราการเข้าถึงประกันชีวิตเทียบกับ GDP อยู่ที่ 3.8% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชียแปซิฟิคที่ 3.6% และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ 10.2% , มาเลเซีย 4.2% (อ้างอิงข้อมูลจาก ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สมาคมประกันชีวิตไทย (TLAA) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDC) และหน่วยงานการประกันภัยในแต่ละประเทศ)
สอดคล้องกับรายงานด้านอุตสาหกรรมที่จัดทำโดย Milliman Limited ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยอิสระที่มองว่า ธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2553 – 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ที่ 7.3% โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน และมีแนวโน้มเติบโตสูงมาก
และยังไม่นับด้วยว่าหลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 และการที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนมีแนวโน้มทำประกันชีวิตมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
2. มีจุดแข็งด้านเครือข่ายตัวแทนประกันชีวิต และบริษัทฯ ทำธุรกิจมานานกว่า 80 ปี
ด้วยเหตุที่ ไทยประกันชีวิตมีการวางรากฐานนานกว่า 80 ปี และประสบความสำเร็จในปั้นแบรนด์ “ไทยประกันชีวิต” อีกทั้งสร้างตัวแทนประกันชีวิตมากกว่า 64,000 ราย (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565) ทำให้มีข้อได้เปรียบหลายด้าน
เช่น สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในระยาว มีประสิทธิภาพในการขายผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน และสามารถอธิบายลูกค้าให้เข้าใจได้ดี ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถเพิ่มอัตราทำกำไรได้
และการที่คู่แข่งจะสร้างเครือข่ายตัวแทนประกันชีวิตให้ได้แข็งแรงขนาดนี้ต้องใช้เวลานาน และยังไม่นับระยะเวลาที่ตัวแทนประกันชีวิตต้องสอบใบอนุญาตจึงจะสามารถขายได้ ทำให้เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว
แต่ข้อสังเกตคือทาง ไทยประกันชีวิตไม่ได้ประมาทครับ ให้ความสำคัญกับช่องทางการขายอื่นด้วย เช่น การขายผ่านธนาคาร ที่มีการทำสัญญาแบบ Exclusive กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB) อีกทั้งยังมีสัญญาแบบ Non-Exclusive กับธนาคารทิสโก้ (TISCO) และธนาคารไทยเครดิต (TCRB) นอกจากนี้ ไทยประกันชีวิตยังเป็นพันธมิตรกับธนาคารและองค์กรของรัฐ อาทิ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และไปรษณีย์ไทย
และยังมีบริษัทพันธมิตรอื่น ๆ เช่น บจ. โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย), บจ. ตรีเพชรอินชัวรันส์เซอร์วิส, บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC), และ บมจ. อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEON) เป็นต้น รวมถึงช่องทางการขายอื่นๆ อย่างเช่น การขายผ่านทางโทรศัพท์ รวมถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในอนาคต
3.มีผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจรและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
โดยถ้าไปดูข้อมูลจะเห็นว่าเบี้ยประกันภัยรับปีแรกแบบคำนวณรายปี (APE) ใน 2564 อยู่ที่ 11,367 ล้านบาทแบ่งเป็น
1) ประกันชีวิตแบบสามัญ คิดเป็นสัดส่วน 69.5%
2) ประกันชีวิตควบการลงทุน คิดเป็นสัดส่วน 7.3%
3) สัญญาเพิ่มเติม คิดเป็นสัดส่วน 13.6%
4) ผลิตภัณฑ์อื่นๆ 9.6%
ข้อสังเกตคือ ทางผู้บริหารปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยจะเน้นยกเลิกการขายผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราทำกำไรต่ำ ทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีการปรับราคาทำให้มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น
และการที่ผลิตภัณฑ์หลากหลายก็มีส่วนช่วยให้บริษัทฯ สามารถสร้างความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับกลุ่มลูกค้าสถาบันและองค์กรสำหรับการขายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มเติม ทำให้เพิ่มยอดขายในระยะยาวได้
4.พอร์ตเงินลงทุน มีโอกาสได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น
อย่างที่เพื่อน ๆ นักลงทุนทราบครับว่า ตอนนี้ธนาคารกลางหลายแห่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ
และเมื่อไปดูพอร์ตเงินลงทุนในไตรมาส 1 ปี 2565 จะเห็นว่า ไทยประกันชีวิตมีเงินลงทุนประมาณ 517,924 ล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นพอร์ตตราสารหนี้ เงินให้กู้ยืม เงินฝากประจำ และเงินสดประมาณ 87.2% เงินลงทุนในตราสารทุน 12.8% ของพอร์ตรวมทั้งหมด)
ดังนั้น ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ก็จะมีผลทำให้พอร์ตเงินลงทุนของไทยประกันชีวิต โดยเฉพาะในตราสารหนี้ที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น รายได้ของไทยประกันชีวิตก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
5.ขยายกิจการในตลาดต่างประเทศ
ไทยประกันชีวิตเริ่มเข้าสู่ตลาดประกันภัยในประเทศเมียนมา ผ่านการเข้าซื้อหุ้น 35% ของ CB life Insurance Company Limited ในปี 2562 และกำลังศึกษาการขยายธุรกิจไปยัง สปป. ลาว และกัมพูชา ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสำหรับธุรกิจประกันชีวิตได้อีกมาก เป็นต้น
6.ผู้บริหารมีประสบการณ์ และมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง
ข้อนี้สำคัญที่สุดครับ เพราะผู้บริหารมีประสบการณ์ในแวดวงการเงินและประกันชีวิตมาอย่างยาวนาน ทำให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของทั้งอุตสาหกรรมและพฤติกรรมผู้บริโภค
นอกจากนี้ ไทยประกันชีวิตยังมีผู้ถือหุ้นเชิงกลยุทธ์คือ Meiji Yasuda Life Insurance Company หนึ่งในบริษัทประกันชีวิตรายใหญ่ในญี่ปุ่น ถือหุ้นในไทยประกันชีวิตในสัดส่วน 15% ของทุนที่ออกและชำระแล้ว ถือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 2
ซึ่งจะนำประสบการณ์มาช่วยต่อยอดในการเปลี่ยนผ่านสู่การทำธุรกิจแบบ Digitalization สนับสนุนแผนการขยายธุรกิจในต่างประเทศ และสร้างโอกาสการเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มตลาดใหม่ ๆ เชื่อมความสัมพันธ์กับบริษัทญี่ปุ่นในไทยได้
7.ปรับกลยุทธ์สู่ยุคดิจิทัล
TLI เปิดตัวแพลตฟอร์มดิจิทัล MDA Plus Application ซึ่งเป็นกลุ่มแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ตัวแทนประกันชีวิตทำงานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ และ ไทยประกันชีวิตแอปพลิเคชัน ให้ลูกค้าทำธุรกรรม บริหารจัดการกรมธรรม์ได้สะดวกมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีแบบประกันที่ออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนความคุ้มครองให้เหมาะสมแต่ละบุคคล เท่ากับว่าเป็นการ Disrupt ตัวเองก่อนที่จะถูกบังคับให้เปลี่ยนครับ
จุดที่น่าสนใจคือ แม้ว่าไทยประกันชีวิตจะเติบโตมากมาขนาดนี้ แต่ยังไม่หยุดนิ่งครับ ผู้บริหารยังมองหาโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน
โดยเตรียม Roadmap ไว้ 2 ช่วง โดยในช่วงแรกมุ่งเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตที่มั่นคง ด้วยการทำ Digital Transformation ส่วนช่วงที่สอง คือ การก้าวสู่อนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืน รับมือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
————
ไทยประกันชีวิตกำลังจะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
นั่นเลยเป็นที่มาของการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง โดยจะนำเงินทุนไปต่อยอด 3 ด้านด้วยกันครับ
1.ลงทุนด้าน Digital Transformation และการทำการตลาดผ่านนวัตกรรมและโซลูชัน ขับเคลื่อนองค์กรด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงกลยุทธ์เพื่อปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานแบบครบวงจร จาก Big Data ที่อ้างอิงฐานลูกค้ากว่า 4,400,000 กรมธรรม์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบเฉพาะบุคคล
พร้อมเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการและดูแลลูกค้าได้อย่างครบวงจร ในทุกช่วงของชีวิต ทุกจังหวะชีวิต และทุกการใช้ชีวิต
2.เสริมความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตรที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับลูกค้าทั่วประเทศ
3.สร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน ทั้งสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่น ๆ
โดยมีวิสัยทัศน์ “การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน”
แม้จะเป็นว่าที่หุ้นน้องใหม่ที่น่าสนใจ แต่ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงเช่น ความเสี่ยงจากการออกแบบผลิตภัณฑ์และกำหนดราคาผิดพลาด, ความเสี่ยงจากการลงทุน, ความเสี่ยงจากการแข่งขัน เป็นต้น
แต่ทางผู้บริหารมีแนวทางป้องกันความเสี่ยงไว้แล้ว อย่าลืมศึกษาหนังสือชี้ชวนก่อนการลงทุนด้วยนะครับ
————
ต้องบอกว่าการเสนอขายหุ้น TLI ไทยประกันชีวิตในครั้งนี้ ได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักลงทุน
สำหรับผู้ที่สนใจในหุ้น TLI สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ investor.thailife.com และรอพบกับหุ้น TLI ในวัน 1st Trading Day เร็ว ๆ นี้
นี่คือทั้งหมดของข้อมูลที่ชวนมาวิเคราะห์หาโอกาสการลงทุนวันนี้ #TAMEIG #ทุกเรื่องที่นักลงทุนต้องรู้