รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ได้พูดถึงเรื่องของการที่ผู้นำของประเทศรัสเซียได้มีการประกาศให้ 2 รัฐตะวันออกของยูเครนเป็นรัฐอิสระว่า หากเข้าใจหลักภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนอะไร การที่รัสเซียได้ทำแบบนี้เป็นการเล่นเกมแบบทฤษฎีที่จะต้องมีผู้ชนะและผู้แพ้ ไม่มีผู้ชนะทั้งสองฝ่าย เป็นการเล่นเกมที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งคิดว่า อีกฝ่ายเหนือกว่าและหากคิดทำอะไรขึ้นมาจะต้องเจอกับความพ่ายแพ้แน่ ๆ เพื่อให้ฝ่ายนั้นยอมจำนนได้ส่วนหนึ่ง เท่ากับว่าตอนนี้ผู้นำรัสเซียมีการเล่นเกมแบบผสมผสานกันก็คือ มีชนะ มีเสีย และต้องการสร้างอำนาจต่อรองไปพร้อม ๆ กัน
สำหรับการเดิมกลยุทธ์ระหว่างรัสเซีย-อเมริกานั้น เวลานี้ทั้งสองฝ่ายต่างมีการใช้กลยุทธ์ข้อมูลข่าวสารที่จริงบ้าง-เท็จบ้าง เพื่อเป็นการโน้มน้าวให้โลกเชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง ผู้นำรัสเซียเวลานี้ยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่า จะทำการบุกหรือไม่ แต่ได้มีการเพิ่มกองกำลังเพื่อเป็นการกดดันให้ NATO เกิดความรู้สึกว่า หากเกิดสงครามเมื่อไร NATO เป็นฝ่ายแพ้แน่ บีบให้ NATO เข้ามาตั้งโต๊ะเจรจาให้ NATO อ่อนโอนลง ยอมรับว่า ผู้นำรัสเซียฉลาดพอที่จะคำนวณต้นทุนได้เสียที่เกิดขึ้น อย่างเช่นดูว่า หากรัสเซียบุกยูเครนทั้งประเทศ NATO จะมีเอกภาพสูงมากหรือไม่ และ NATO จะมีท่าทีตอบโต้อย่างไรบ้าง และสุดท้ายผู้นำรัสเซียก็จะทำการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเองว่า อันนี้ใช่สำหรับรัสเซียหรือไม่
เช่นกันท่าทีของ NATO นั้น คาดว่า NATO น่าจะหาทางออกด้วยวิธีการที่ทำให้ไม่มีกองกำลังถาวรเข้ามาในประเทศสมาชิกด้วยการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะเป็นลัตเวียหรือเอสโตเนีย และรัสเซียอาจมีการเรียกร้องให้มีการลดอาวุธขนาดพิสัยกลาง เชื่อว่าเกมไม่น่าจบลงง่าย ๆ เนื่องจากจะต้องมาดูว่า รัสเซียจะมีการขยายอาณาเขตนอกจากพื้นที่ที่รัสเซียได้รับรองหรือไม่ และจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของประเทศยูเครนที่มีท่าที่เป็นมิตรและเป็นฝ่ายรัสเซียหรือไม่ สุดท้ายก็คือ จะต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ประเทศยูเครนเป็นสมาชิกกับ NATO เชื่อได้ว่าหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องยาวที่เป็นแบบซีรี่ส์ที่เห็นได้จากประวัติศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีของจอร์เจียและไครเมีย คาดว่าจะมีซีรี่ส์อื่น ๆ ต่อจากนี้ในอนาคต
ในส่วนผลกระทบเศรษฐกิจไทยต่อกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนนั้น หลัก ๆ แล้วทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวน รวมไปถึงราคาน้ำมันด้วย หากว่าไม่มีการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 อย่างหนัก และหากไม่มีสงครามมหาประลัยแล้ว เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยรวมเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว จากตอนแรกที่มีการคาดการณ์เอาไว้ที่ 3-4 % ดีไม่ดีก็อาจจะฟื้นตัวได้มากกว่านั้น ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นนั้น ประกอบไปด้วยภาคการส่งออก, การท่องเที่ยวและการลงทุนในภาครัฐ