ไม่ด่วนแต่สำคัญ! เฮีย Ray Dalio มองการลดดอกเบี้ยของเฟดยังไง ที่ลดเหลือ 0%

809

 

อ่านแล้วจะเข้าใจเลยว่าทำไมตลาดหุ้นพังทั้งโลก ทั้ง ๆ ที่มีมาตรการล็อตใหญ่จากธนาคารกลางแบบรัว ๆ

 

#ลงทุนนอกโลก โดย #ถามอีกกับอิก

 

สด ๆ ร้อน ๆ ค่อยๆอ่านยาวหน่อย แต่อ่านแล้วได้ความรู้มากๆครับ มาลุยกันเลยครับ

 

ปล.แต่ถ้าอ่านแล้วชอบ อยากสนับสนุนแอด ก็รบกวนขอกด Like กด แชร์ เพจเป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ 

============

 

เริ่มจาก ส่วนแรกกันก่อนครับ

 

1. เฮีย Ray Dalio สุดยอด Hedgefund ยอมรับว่าแกเองก็คงจะไม่สามารถคาดการณ์ได้แม่นยำว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับภาวะตลาดแบบนี้

 

2. เหตุผลเพราะมันเป็นช่วงเวลาที่สุดติ่งกระดิ่งแมว ที่นานทีปีหนถึงจะเกิดขึ้น “สิ่งที่ผมไม่รู้มากกว่าสิ่งที่ผมรู้มากมาย”

 

3. เหมือนที่คุณคงจะทราบอยู่แล้วว่า ตัวผมเองกังวลว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะขาลง สิ่งที่ตามมาคืออัตราดอกเบี้ยจะถูกลดเหลือ 0%”

 

4. และยิ่งเป็นช่วงที่ภาระหนี้สินสูงมาก และผนวกกับการที่ตอนนี้มีความเหลื่อมล้ำของทั้งความมั่งคั่งและ ความแตกต่างทางความคิดเห็นทางด้านการเมือง คล้ายๆกับช่วงปี 1930 ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ไปใหญ่

 

5. รอบนี้โควิด-19 เป็นปัจจัยที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะขาลง ซึ่งถือว่าสร้างความประหลาดใจให้กับคุณ Ray มากครับ

 

6. แกมองว่า ถึงภาวะโรคระบาดที่รุนแรง อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนัก แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ตัวแกกลัวครับ

 

7. แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ ถ้าเศรษฐกิจขาลง ดันมาเจอกับภาวะดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 0% อันนี้จะทำให้ตัวเค้ากังวลครับ

 

8. ทำไมถึงน่ากลัว? เพราะการที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวแตะระดับ 0% นั่นแปลว่าสินทรัพย์ทุกอย่างจะมีโอกาสร่วงลง (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ผลบวกจากการที่ลดอัตราดอกเบี้ยลงจะไม่มีอีกแล้ว หรือลดได้อีกไม่มากนัก)

 

9. การที่อัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือ 0% นั่นหมายความว่าเครื่องมือของธนาคารกลางไม่เวิคแล้ว เข่น การลดดอกเบี้ย หรือการจะให้ guidance ไปที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรก็ไม่เวิคแล้ว

 

10. การพิมพ์เงิน และซื้อสินทรัพย์ประเภทหนี้ ที่ธนาคารกลางทำในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่เวิค เพราะตอนนี้ตราสารหนี้ไม่สามารถไปได้มากกว่านี้แล้ว

 

และก็คงจะไม่ถูกขายออกมาเพื่อที่จะไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงินที่มีปัญหาอยู่

 

11. สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0% คือ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง จะเพิ่มขึ้น (อัตราดอกเบี้ยลบกับ อัตราเงินเฟ้อ) พูดง่ายๆคือ เราจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดครับ

 

12. อีกหนึ่งเหตุผลที่จะทำให้เกิดภาวะเงินฝืดคือ การที่ราคาน้ำมันร่วงหนัก เช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ผนวกกับการชะลอตัวเศรษฐกิจ, และยังมีปัญหาเรื่องหนี้อีก

 

13. สิ่งที่จะตามมาคือ Credit Spreads (ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาล) ก็จะเพิ่มมากขึ้น และอาจจะทำให้ภาระการจ่ายหนี้สูงขึ้น พร้อมๆกับ การปล่อยสินเชื่อที่จะลดลง

 

14. และนั่นจะยิ่งทำให้ภาวะสินเชื่อตึงตัว และยิ่งผนวกกับปัญหาเงินฝืด และเจอภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอีกจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาตามมา

 

“พระเจ้า ช่วยประเทศที่เจอปัญหาเหล่านี้ด้วยเถิด” เฮีย Ray Dalio ถึงขั้นเปรยแบบนี้ครับ

 

15.สิ่งที่ทีมของคุณ Ray ทำคือ ลองจำลองสถานการณ์ราคาตลาด และลองทดสอบดูว่า ผลกระทบจะเป็นอย่างไร

 

16. เช่น จะลองคิดถึงสถานการณ์ของกองทุนบำเหน็จบำนาญและบริษัทประกัน รวมถึงบริษัทอื่น ๆ ที่มีภาระหนี้สินระยะยาว และมีการลงทุนในตลาดหุ้น หรือสินทรัพย์ที่คล้ายๆกับตลาดหุ้น

 

17. สิ่งที่คุณ Ray ทำ คือ ลอง mark to market ของราคาตลาด (ตามมาตรฐานบัญชี) เพื่อลองดูว่า ภาระหนี้สินแบบนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ (เพื่อที่จะเอามาจ่ายให้ กับภาระหนี้สินเหล่านี้ ผลลัพธ์จะเป็นยังไง)

 

ข่าวร้ายคือ “ไม่พอครับ” ผลตอบแทนจากการลงทุนไม่พอที่จะเอามาจ่ายภาระหนี้สินครับ

 

18. สิ่งที่คุณ Ray คิดต่อ คือ เอ… ถ้าเราเป็นบริษัทเหล่านั้น เราจะทำอะไร เช่น ขายสินทรัพย์เพื่อเอามาจ่าย ค่าใช้จ่ายสารพัดอย่าง

 

19. ยกตัวอย่างเช่นผู้ผลิตน้ำมัน (อาจจะเป็นประเทศหรือบริษัทก็ได้)

 

แล้วลองคำนวณรายจ่ายของพวกเค้าดู จะเห็นว่ามากกว่า รายได้ของมาก ๆ และชวนคิดดูว่าถ้าเราเป็นเค้าเราจะทำยังไง

 

20. ทางเลือกหนึ่งก็คงจะเป็นการลดรายจ่าย และขายสินทรัพย์

 

ซึ่งเฮีย Ray Dalio คิดว่า นั่นคือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับหลาย ๆ บริษัท หรือหลายๆประเทศ และนั่นแหละครับที่ทำให้เป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก ๆ เพราะนั่นหมายความว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและราคาสินทรัพย์ในตลาดน่าจะร่วงลงหนักมาก

 

21.สิ่งที่แกชวนคิดคือ นักลงทุนส่วนใหญ่ และธุรกิจส่วนใหญ่เป็นประเภท Long คือซื้อ แล้วถือสินทรัพย์เพื่อหวังว่าราคาของพวกมันจะเพิ่มขึ้นในอนาคต (โดยที่อาจจะเป็นกู้ยืมเงิน)

 

22. เพราะฉะนั้นผลกระทบจากการร่วงลงของราคาของสินทรัพย์ที่เราเห็น “มันจะมากกว่าการที่ตลาดร่วงลงแบบที่ไม่มีการกู้ยืมเงิน”

 

(เช่นอาจจะมีการ panic sell , force sell ถูกบังคับให้ขาย) ทำให้ราคาจะเหวี่ยงลงหนักมาก

 

23. สิ่งที่อาจจะขัดแย้งกับความคิดของคนส่วนใหญ่คือ ตลาดมักจะมีผลกระทบที่มากมายต่อเศรษฐกิจ มากกว่าการที่เศรษฐกิจจะมีผลต่อตลาดหุ้นครับ

 

24. เพราะฉะนั้นลองคำนวณเล่นๆดูว่าใครบ้างที่ตอนนี้ลงทุนอยู่บ้าง และลองคิดดูว่าเค้าจะทำอย่างไร (เช่น ลดค่าใช้จ่าย, ขายสินทรัพย์)

 

โอวววว แค่นี้ก็ปวดตับละครับ

 

============

 

มาลุยส่วนที่สองกันครับ “ความร่วมมือระหว่างการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เป็นสิ่งที่ต้องการมาก ๆ”

 

1. ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด มักจะมาจากคนที่เลือกตั้งให้เค้าเข้ามาบริหารประเทศ แต่กลับบริหารได้แย่มาก ๆ

 

2. เพราะตอนช่วงวิกฤตมันยากมากๆ ที่จะรู้ว่าต้องทำอะไร และต้องกล้าที่จะทำอย่างหนักแน่น ตัดสินใจเฉียบขาด

 

3. และด้วยการเมืองที่มีความเห็นไม่ตรงกัน มีความแบ่งแยกกันยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นความร่วมมือที่ดีระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง (เค้าหมายถึงในสหรัฐนะครับ อิอิ)

 

4. ตอนนี้ยอมรับว่านโยบายด้านการคลังเริ่มเอามาใช้บ้างแล้ว แต่สิ่งที่เห็นคือไม่มากพอ และไม่เฉพาะเจาะจงมากพอที่จะช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาด ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส (ซึ่งถ้าไปถามรัฐบาล เค้าก็จะเถียงกลับมา)

 

5. อย่างไรก็ตามตอนนี้เราเริ่มเห็นแล้ว ว่า คนกำหนดนโยบายเริ่มใช้นโยบายแบบ Whatever it takes” คือ พร้อมทุ่มทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขปัญหาจากวิกฤตไวรัสครั้งนี้ ก็นับว่าเป็นสัญญานที่ดีครับ

 

6.แต่ก็มาตามดูทีหลังว่ามันประสบความสำเร็จหรือป่าว เพราะความแบ่งแยกทางการเมืองทำให้มีข้อจำกัดในการบริหารจัดการ

 

============

 

มาลุยทีละประเทศกันครับ เริ่มจากสหรัฐกันก่อนครับ

 

1. จนถึงตอนนี้การใช้นโยบายการเงินและการคลัง ดูจะสายไปนิดนึง แต่อย่างน้อยก็เริ่มเห็นสัญญานของการใช้นโยบายแบบทุ่มสุดตัวของทั้งสองฝ่ายแล้ว

 

2. แต่ผลจากการใช้นโยบายจะเวิคหรือไม่ ก็ต้องติดตามกันต่อ เพราะทุกวันนี้เหตุการณ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว

 

3. ตอนนี้เฮีย Ray Dalio มองว่าเม็ดเงินยังน้อยไปครับ เช่น 3 พันล้านเหรียญสำหรับการพัฒนาวัคซีน, เครื่องมือทดสอบว่าคนติดไวรัสไหม และเครื่องมือในการรักษา

 

4. ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค CDC มีงบประมาณเพียง 2.2 พันล้านเหรียญในการควบคุมการแพร่ระบาด

 

5. ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศมีงบ 1.2 พันล้านเหรียญในการช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัสในต่างประเทศ

 

6. ส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการเตรียมตัวด้านสุขภาพ และศูนย์ชุมชนต่างๆมีงบ 1 พันล้านเหรียญ

 

7. ส่วน การให้เงินชดเชยเงินกู้สำหรับ SME มีงบ 1 พันล้านเหรียญ

 

8. งบสาธารณสุขสำหรับการให้บริการแพทย์ทางไกล มีงบ 500 ล้านเหรียญ

 

9. ในขณะที่งบสำหรับการให้วัคซีนแบบมีค่าใช้จ่ายน้อยๆ หรือแบบฟรี มีงบ 300 ล้านเหรียญ

 

10. ส่วนนโยบายลดภาษีตอนนี้ก็ยังไม่ถูกจุด และคิดว่าพรรคฝ่ายค้านอาจจะไม่เห็นด้วย (แต่ตอนนี้นโยบายยังไม่ชัดเจน)

 

11. สิ่งที่เฮีย Ray มองเห็นคือตอนนี้นโยบายยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนครับ เพราะตอนนี้มีหลายภาคส่วนทีต้องการความช่วยเหลือเรื่องหนี้ และเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้ลุกลาม บานปลาย (มีบ้างแต่ถือว่าน้อยเกินไป)

 

12. ยกตัวอย่างเช่นการให้เงินกู้ชดเชยกับ SME , การจ่ายเงินชดเชยให้กับคนที่ต้อง กักตัวเองทำให้ไม่ได้ทำงาน, รวมถึงการให้ค่ารักษาจากไวรัส กับคนที่ไม่มีประกัน

 

การเพิ่มเงินทุนสำหรับการให้บริการทั้งระดับรัฐ และท้องถิ่น (โดยการใช้งบฉุกเฉิน และงบที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ), การให้เงินสำหรับคนว่างงาน และเพิ่มเงินทางอ้อม เช่น การให้สแตมป์อาหาร สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ

 

13. สัปดาห์ก่อนหน้านี้สภาคองเกรส อนุมัตินโยบายที่เฉพาะเจาะจงบางส่วนแล้ว เช่น การให้ทดสอบไวรัส ฟรี! ไม่เสียตัง, การให้ประกันการว่างงาน, การจ่ายเงินชดเชยสำหรับคนที่พักงานแบบไม่ได้ตัง (จากผลกระทบจากไวรัส) , รวมถึงการให้เงินชดเชยค่าอาหารสำหรับนักเรียน เช่น ฟรีค่าอาหารกลางวัน

 

14. แต่มาตรการเหล่านี้ถือว่าคิดเป็นเม็ดเงินที่น้อยมาก ๆ และยังไม่ได้ช่วยพยุงปัญหาเศรษฐกิจ “คนที่ได้รับผลกระทบจำเป็นต้องได้รับมาตรการที่มากกว่านี้”

 

15. อีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่เห็นคือ นโยบายช่วยเหลือเรื่องภาระหนี้สินให้กับอุตสาหกรรมที่จะเจ๊ง จากภาวะช็อคครั้งนี้

 

16. แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะร้องขอให้สภา อนุมัติเงินช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มเติม 5 หมื่นล้านเหรียญ

 

ก็น่าจะพอช่วยเหลือเงินกู้ ระดับแสนล้านเหรียญได้ แต่ก็คงจะไม่มากพอ และไม่ชัดเจนว่าจะได้รับการสนับสนุนจากพรรคเดโมแครตหรือไม่

 

17. เพราะฉะนั้นการช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการเจ๊งรอบนี้ คือสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำสำหรับรัฐบาล เพื่อรับประกันความปลอดภัยของธนาคารพาณิชย์สำหรับการปล่อยกู้ก้อนใหม่

 

18. ตอนนี้เราเริ่มเห็นบริษัทที่มีปัญหาเรื่องหนี้กับธนาคารแล้ว” สิ่งที่จะช่วยได้คือการที่ให้ความช่วยเหลือกับบริษัทที่มีปัญหาถูกบีบด้านการเงิน

 

19. การให้เงินกับบริษัทที่มีปัญหานี้ถือว่าเป็นหน้าที่ ส่วนหนึ่งของธนาคารกลางสหรัฐ แต่ธนาคารกลางสหรัฐก็สามารถให้สภาพคล่องแก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อปล่อยกู้อีกที

 

20. แต่สิ่งที่คุณ Ray คิดว่าน่าจะเห็นคือ โปรแกรมคล้ายๆกับ ธนาคารกลางยุโรป (TLTRO) หรือการที่ให้สินเชื่อเงินทุนแก่สถาบันการเงิน โดยการเสนอการระดมทุนระยะยาวของธนาคารในเงื่อนไขที่น่าสนใจ เพื่อกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร นั่นเองครับ

 

โดยธนาคารกลางสหรัฐจะให้เงินต้นทุนต่ำๆ และปกป้องธนาคารในการปล่อยกู้

 

“สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การปกป้องไม่ให้ธนาคารล้มละลาย” แกย้ำครับ

 

21. บริษัทที่มีปัญหาจะไม่ใช่ทั้งหมด ที่มี วงเงินสินเชื่อ ดังนั้นก็ยังมีช่องว่างยังเหลืออยู่ ซึ่งก็อาจจะยังทำให้เกิดความเสียหายได้

 

22. สิ่งที่เฮีย Ray ไม่ทราบคือ ไม่รู้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐและผู้กำหนดนโยบายด้านการคลังเคยทำ stress test ทดสอบดูว่าถ้าเกิดสถานการณ์เลวร้ายแบบสุดขีด

 

บริษัทต่าง ๆ อุตสาหกรรมต่างๆจะอยู่รอดไหม?

 

23. สิ่งที่เฮีย Ray มองเห็นตอนนี้ค่อนข้างกังวลใจเลยครับ เพราะตอนนี้มีบริษัทและหลากหลายอุตสาหกรรม จำนวนมากที่มีปัญหาหนี้สิน ที่อาจจะทำให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ และปรับโครงสร้างบริษัท

 

24. เพราะถึงจุดหนึ่ง….นโยบายการเงินจะเริ่มไม่ได้ผล และการแตกแยกทางการเมืองจะมากขึ้น และทำให้เกิดความไม่แน่นอน

 

25. และถ้าบริหารจัดการไม่ดี ก็จะเป็นปัญหาการเมืองและปัญหาสังคมใหญ่ตามมา

 

26. ”ถ้าผมอยู่ในจุดที่ประธานาธิบดีทรัมป์อยู่ตอนนี้” เฮีย Ray จะเป็นคนใจดี เป็นคนเห็นอกเห็นใจมากขึ้น (ใจเย็นมากขึ้น) เพราะนับว่าข่าวสารที่ถ่าโถมเข้ามาก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ ในช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อนแบบนี้

 

27. ตัวเค้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาคการเมือง จะทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ มากกว่าที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในอำนาจของตัวเอง (ใช้ได้กับทุกประเทศ)

 

28. สำหรับธนาคารกลางสหรัฐ เองก็เพิ่งจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้แล้ว ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยที่ไม่ต้องทำ นโยบายการเงินภาค 3 (ทำงานร่วมกับนโยบายการคลัง)

 

สำหรับ MP1 : คือ การใช้อัตราดอกเบี้ยในการควบคุมเศรษฐกิจ และพอเริ่มไม่เวิค

 

แล้วก็จะใช้วิธีการพิมเงินออกมา เพื่อซื้อสินทรัพย์อันนี้แกจะเรียกว่า MP2 ภาค 2

 

แล้วถ้าใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลกลางจะมีงบขาดดุลมหาศาล และจะเริ่มขายพันธบัตรให้กับธนาคารกลาง (ภาค 3)

 

29. ตอนนี้เราอยู่ในวงจรหนี้ระยะยาว และเราควรจะต้องเห็นการร่วมมือกันระหว่างผู้กำหนดนโยบายการเงินและการคลัง และคอยติดตามว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะหลังจากนี้ก็คงจะเหลือวิธีไม่มากในการแก้ไขปัญหาวิกฤตรอบนี้

 

30. ตามทฤษฏีแล้ว ธนาคารลางสหรัฐสามารถซื้อสินทรัพย์อื่น ๆ ได้เช่น หุ้น แต่คงไม่ทำเพราะคงถูกวิพากย์วิจารณ์มาก และก็คงจะมีผลไม่มากเช่นกัน

 

============

 

ถัดมา มาดูทางฝั่งยุโรปกันครับ

 

1. ตอนนี้มีความคาดหวังสูงมาก ที่ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป จะยืดหยุ่นต่อกฏของสหภาพยุโรป ซึ่งยึดมั่นเรื่องความมีเสถียรภาพและการเติบโตของเศรษฐกิจ

 

2. ตอนนี้นโยบายการคลังในยุโรป เน้นไปที่การสนับสนุนบริการด้านสาธารณสุขและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก และ SMEs

 

3. มาตรการที่เอามาใช้มีหลายอย่างครับ เช่น การลดภาษี และค่าธรรมเนียม และยกหนี้ให้

 

รวมถึงการชดเชยพนักงานที่ทำงานน้อยลง (อาจจะโดนกักตัวเพื่อดูอาการ)

 

4. ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก เช่น ท่องเที่ยว, ขนส่ง และยานยนต์

 

5. ทั้งฝรั่งเศสและอิตาลีตอนนี้กำลังร่วมมือกันอย่างหนักในผู้บริหารระดับสูงและระดับรัฐบาล แต่ก็ยังมีความเห็นไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่สำหรับทิศทางนโยบาย และแนวทางการใช้งบแบบขาดดุลร่วมกัน

 

6 .เบื้องต้นประชาคมเศรษฐกิจยุโรปเพิ่งเสนอใช้งบประมาณ 2.5 หมื่นล้านยูโร สำหรับหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น สาธารณสุข, SMEs, การสนับสนุนตลาดแรงงาน

 

7. ”ผมเดาว่า แต่ละประเทศจะใช้นโยบาย whatever it takes” ทุ่มทุนสุดตัวทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อช่วยให้พ้นวิกฤตครั้งนี้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยประเทศของตัวเอง ไม่ได้ช่วยคนอื่น

 

ทำให้สหภาพยุโรปเองก็จะมีข้อจำกัดในการช่วยเหลือ ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้เช่นกัน

 

8. เนื่องจากการใช้นโยบายกระตุ้นการคลังและงบขาดดุลแบบจัดเต็ม ก็จะทำให้เกิดการขายพันธบัตร และถ้าธนาคารกลางยุโรปไม่ซื้อ ก็จะทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

 

9. ธนาคารกลางยุโรปไม่สามารถทำอะไรได้มากมายเพราะว่าไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้มากกว่านี้แล้ว และไม่มีอำนาจในการซื้อ

 

“แต่แน่นอนครับ เจ้าหน้าที่จะไม่พูดตรงๆหรอกครับ” แต่คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปก็บอกเองว่า จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ -0.5% และจะใช้มาตรการเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด

 

10. เช่น การเสริมสภาพคล่องและซื้อพันธบัตรมูลค่า 1.339 แสนล้านเหรียญภายในสิ้นปีนี้

 

และใช้โครงการใหม่เพื่อให้เงินกู้ต้นทุนต่ำ ด้วยอัตราต่ำมากถึง -0.75% ต่ำกว่าอัตราเงินฝากของธนาคารกลางยุโรป

 

11. นี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ชัดเจนมากๆ ว่าธนาคารกลางยุโรปจะไม่ทำอะไรนอกจากการเพิ่มสภาพคล่อง

 

12. เพราะการลดดอกเบี้ยมากกว่า ติดลบ 0.5% จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี และตอนนี้ยุโรปเหนือเองก็เริ่มไม่เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ย และเริ่มปรับเปลี่ยนข้อจำกัดในการซื้อพันธบัตรรัฐบาล

 

13. สิ่งที่คุณลาการ์ด กำลังทำ คือการให้เงินที่มีต้นทุนถูกสุดๆ และทำให้มั่นใจว่าสภาพคล่อง และสินเชื่อไม่เหือดหายไปจากระบบ

 

14. และเธอก็บอกชัดเจนว่า การรับมือกับโควิด จะต้องใช้นโยบายการคลังก่อน และเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะตอนนี้รัฐบาลในกลุ่มยุโรปใช้เงินเพียงแค่ 3 หมื่นล้านเหรียญเท่านั้น

 

15. ในขณะที่มาตรการจากธนาคารกลางจะได้ผลก็ต่อเมื่อ รัฐบาลใส่งบประมาณลงมาด้วยเช่นกัน และต้องทำให้มั่นใจว่าธนาคารจะยังคงปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

 

16. สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ ธนาคารกลางยุโรปจะพิจารณาการเพิ่มสภาพคล่องให้กับ SMEs โดยอาจจะต่อมาตรการ TLTRO หรือโครงการใหม่

 

17. สิ่งที่จะทดสอบได้ว่า ECB จะใช้มาตรการแบบสุดตัวหรือป่าว คือให้ดูว่าพวกเค้าเพิ่มเพดานการซื้อพันธบัตรหรือไม่, ในขณะที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยและ credit spreads ลดลงหรือไม่

 

18. ถ้าใช่ ก็จะเป็นการซื้อเวลาเพื่อช่วยลดงบขาดดุล แต่ก็ยังไม่พอสำหรับระยะยาว (แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำ)

 

19. แต่ถ้าคำตอบคือ “ไม่ละก็” ก็จะทำให้เกิดความกังวลได้

 

============

 

ส่วนอิตาลีเองก็มีหลายจุดที่น่าสนใจครับ

 

1. ตอนนี้มาตรการนโยบายการคลังคิดเป็นเม็ดเงินสัดส่วน 0.4% ของ GDP แต่จริงๆแล้วอิตาลีต้องการงบประมาณมากกว่านั้น และควรจะมีงบมากกว่านั้นมาก ๆ

 

2. สิ่งที่ทำได้ดีคือ การลดภาษีแบบเฉพาะเจาะจงโดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น การขนส่ง, โรงแรม และภาคการส่งออก ควบคุ่ไปกับสนับสนุนด้านสาธารณสุข

 

รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทที่รายได้หดหายไปกว่า 25%

 

3. สำหรับเฮีย Ray มองว่า นโยบายเหล่านี้ดีมาก และเป็นนโยบายที่ประเทศอื่นๆควรพิจารณาเวอร์ชั่น ของตัวเอง เพราะยังมีธุรกิจดีๆอีกมากที่มีความเสี่ยงที่จะล้มละลาย และอาจจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

 

4. แต่จริง ๆ แล้วแกก็ยังมองว่ายังไม่พอนะครับ เพราะรัฐบาลอิตาลีเองก็ยังเตรียมใช้แพคเกจในการปฏิรูปเศรษฐกิจเช่น การสนับสนุนมาตรการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ FDI และการลงทุน แต่ก็ยังไม่ใช่ประเด็นที่จะมาพูดถึงในช่วงวิกฤตแบบนี้

 

5. เหตุผลเพราะนโยบายเหล่านี้จะทำให้เกิดประเด็นทางการเมืองตามมา เพราะฝ่ายค้านก็อาจจะมองว่ามีอีกหลายประเด็นที่จะต้องทำ (สุดท้ายก็จะเถียงไป เถียงมา)

 

6. รัฐบาลอิตาลีตอนนี้กำลังพิจารณางบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็น 2.5 หมื่นล้านยูโร หรือ สัดส่วน 1.2% ของ GDP และอาจจะทำให้สัดส่วนขาดดุลเพิ่มเป็น 3.3% ในปีนี้ (ตัวเลขจริงอาจจะมากกว่านี้เพราะรายได้จากภาษีจะลดลงอย่างมีนัยยะ)

 

7. แม้ว่าตอนนี้สหภาพยุโรปจะยืดหยุ่นให้กับอิตาลีมากขึ้น แต่การกู้ยืมเงินมากขึ้นก็จะทำให้อิตาลีมีปัญหาระดับหนี้ได้เหมือนกัน

 

ทั้งนี้รัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลีเองก็ขอแรงสนับสนุนจาก ธนาคารกลางยุโรปเช่นกัน เดี๋ยวต้องรอดูผลว่าจะเป็นอย่างไร

 

============

 

อีกหนึ่งประเทศพี่ใหญ่ในยุโรป คือ เยอรมนีครับ

 

1. เยอรมนีเริ่มต้นรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ด้วยความขี้เหนียว ใช้เงินไม่เยอะ ปล่อยสินเชื่อไม่แยะ

 

2. แต่ตอนนี้เร่ิมใช้นโยบาย whatever it takes ทุ่มสุดตัวเหมือนกันครับ โดยจะเพิ่มการขายพันธบัตรมากขึ้น โดยธนาคารกลางยุโรปจะซื้อพันธบัตรเหล่านี้ เพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง

 

3. ตอนนี้รัฐบาลกำลังเตรียมมาตรการในการปกป้องพนักงานและบริษัทห้างร้านต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อเตรียมสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับการผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้ และผ่านไปได้อย่างดีด้วย

 

4. เช่นการจ่ายเงินชดเชยสำหรับ นายจ้างและลูกจ้างที่ลดเวลาการทำงานลง และปกป้องสภาพคล่องผ่านวาณิชธนกิจ

 

5.นอกจากนี้ยังใช้มาตรการเลื่อนการจ่ายภาษี และยกเลิกการทำโทษกรณีที่จ่ายภาษีช้า

 

6. และยังจะให้เงินกู้สำหรับธุรกิจ และการการันตีเงินกู้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

 

7. สำหรับผมมองว่า เป็นนโยบายที่ดีทั้งในแง่ของขนาดของมาตรการ และแนวทางนโยบายที่เอามาใช้แบบเน้น ๆ เฉพาะกลุ่มไปเลย” แต่สิ่งที่ต้องการคือ ต้องการยืมเงินมากขึ้น (จากธนาคารกลางยุโรป)

 

แต่ยังคงต้องติดตามข้อจำกัดของเยอรมันเองด้วยเช่นกัน (กฏเกณฑ์เยอะเกิ๊น สำหรับเยอรมนี แต่ก็เข้าใจได้)

 

============

 

สำหรับฝรั่งเศส ตอนนี้ก็ใช้มาตรการหลายอย่างครับ

 

1. หลัก ๆ แล้วเน้นไปที่การช่วยเหลือเรื่องการจ่ายหนี้ และผ่อนคลายกฏเหล็กหลายอย่าง เช่น การช่วยเหลือการจ่ายหนี้สูงสุดถึง 70% ของยอดหนี้

 

2. รวมถึงการยกเลิก การทำโทษกรณีการจ่ายหนี้ช้าตามสัญญาที่ทำกับรัฐบาลและจ่ายภาษีช้า

 

3. นอกจากนี้รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสเองก็ยังได้ริเริ่มการใช้มาตรการเศรษฐกิจแบบฉุกเฉิน

 

โดยข้อดีคือ ฝรั่งเศสมีการรวมศูนย์ของการบริหารงานมากกว่าเยอรมนี ทำให้ข้อจำกัดน้อยกว่า เยอรมนี

 

4. ทำให้รัฐบาลจะสามารถใช้นโยบายที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่าง ภาคส่วนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจในภาพรวมได้

 

5. นอกจากนี้รัฐบาลยังตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนมากกว่า เพราะฉะนั้นก็น่าจะคาดหวังได้เลยว่าน่าจะมีมาตรการมากกว่านี้ ถ้าสถานการณ์แย่ลง

 

6. แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้ยอดขาดดุลของฝรั่งเศสก็สูงมากแล้วและมีโอกาสที่จะแหกกฏนโยบายการคลังของสหภาพยุโรป (คิดเป็นสัดส่วน 3.2% ของ GDP)

 

ทำให้อาจจะเป็นอุปสรรคในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต

 

============

 

ส่วนญี่ปุ่นเองก็ใช้มาตรการจัดหนักครับ

 

1. สด ๆ ร้อน ๆ นโนบายการคลังรัฐบาลตอนนี้เน้นไปที่สาธารณสุข และคนหรือบริษัทที่ได้รับผลกระทบ โดยหลัก  ๆเน้น ๆไปที่ SMEs ครับ

 

2. โดยก่อนหน้านี้ไม่นานก็เพิ่ง ใช้มาตรการใช้จ่ายสูงถึง 4.5 แสนล้านเยน เช่น การสร้างคลินิกหมอแห่งใหม่ และการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์

 

นอกจากนี้ยังช่วยพ่อแม่ที่ทำงานอยู่ แต่จำเป็นต้องลางานเพราะโรงเรียนปิด , และช่วยเหลือ SMEs

 

3. ไม่ใช่แค่นี้ครับรัฐบาลยังอัดเงิน 1.6 ล้านล้านเยนในการช่วยเหลือทางการเงินแก่ SME และธุรกิจอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งนี้

 

“เป็นนโยบายที่ดีเลยแหละในความเห็นของผม” และรัฐบาลยังสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้

 

4. นี่เป็นมาตรการที่นอกเหนือจากนโยบายการคลังที่อัดเงินไปแล้วกว่า 13.2 ล้านล้านเยน ที่ประกาศไปตั้งแต่เดือนธันวาคม โดยจะทยอยแบ่งเอาไปใช้หลายๆไตรมาส

 

5. ทั้งนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาเงินก้อนใหม่ช่วงเดือน เมษายนมูลค่า 10-20 ล้านล้านเยน ซึ่งรวมถึงมาตรการในการให้เงินสดแก่ประชาชนด้วยครับ

 

6. ข้อควรระวังคือ ตอนนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นค่อนข้างถูกบีบหนักกว่าธนาคารกลางอื่นๆครับ เพราะมีปัญหาเหมือนกัน แต่ดันมีปัญหาค่าเงินเยนแข็ง

 

และเจอภาวะเงินฝืด และเจอเศรษฐกิจชะลอตัวกดดันอีก

 

7. แต่ข้อดีคือ มีความยืดหยุ่นในการใช้เงินซื้อสินทรัพย์ต่างๆและซื้อปริมาณเท่าไหร่ก็ได้

 

8. โดยปกติแล้วธนาคารกลางญี่ปุ่นจัดหนักซื้อ ETF มูลค่ากว่า 1 แสนล้านเยนในทุก ๆ วัน โดยเข้าแทรกแซงตลาดในเดือนมีนาคม สูงกว่าก่อนหน้านี้ที่ใช้งบวันละ 7 หมื่นล้านเยน

 

9. นอกจากนี้ยังให้สภาพคล่องกับตลาด ผ่าน repo และยังอาจจะเพิ่มเป้าหมายการซื้อ ETF ในการประชุมเดือน มีนาคมนี้ด้วย

 

============

 

โอเค ถึงประเทศสุดท้ายละครับ คือจีน

 

1. ”นับว่าเป็นนโยบายการเงินและการคลังที่ได้ผลและตรงจุดมากที่สุด” เฮียแกชมใหญ่เลยครับ

 

2. ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ จีนเป็นประเทศที่มีความสามารถในการใช้นโยบายการเงินและการคลังร่วมกัน และไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และมีผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่ฉลาดสุด ๆ

 

3. จีนประกาศมาตรการการคลังโดยใช้สัดส่วนประมาณ 1.2% ของ GDP ไม่นับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

 

เช่น การยกเลิกการจ่ายเงินให้กับสังคม เช่น บำนาญ, การว่างงาน, ประกันการบาดเจ็บในที่ทำงาน, ลดการจ่ายเงินสมทบด้านประกันสุขภาพ

 

ลดภาษี VAT สำหรับบริษัทต่าง ๆ

 

4. ในขณะเดียวกันก็ลดค่าไฟ ค่าแก๊สสำหรับบริษัทห้างร้านต่างๆ

 

5. นอกจากนี้ยังมีเงินชดเชยให้กับบริษัทเล้กๆในระดับท้องถิ่น

 

ส่วนถ้าเป็นระดับชาติ ทางรัฐบาลก็ใช้มาตรการในการสนับสนุนบางอุตสาหกรรม และยกเลิกมาตรการควบุคมหลายอย่าง เช่น การชะลอการนับ NPL หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

 

6. ธนาคารกลางจีนสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เช่นนโยบายอัตราดอกเบี้ย และสามารถเพิ่มหรือลดการปล่อยสินเชื่อในอุตสาหกรรมที่จีนต้องการอยากจะเห็น ให้เพิ่มหรือลด

 

7. จัดหนักทั้งลดดอกเบี้ย ลดเงินฝากขั้นต่ำที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเก็บไว้เป็นเงินสำรอง

 

นอกจากนี้ก็เสริมสภาพคล่องให้และจัดตั้งแพคเกจช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสมูลค่าสูงถึง 7.9 หมื่นล้านเหรียญ

 

8. นอกจากนี้ยังเปลี่ยนนโยบายการบริหารเป็นการบริหารด้วยความรอบคอบ แต่มีความยืดหยุ่นที่เหมาะสม

 

9. และยังมีมาตรการกว่า 30 มาตรการในการช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด โดยเน้นไปที่ SMEs เช่น การปล่อยกู้, การลดต้นทุนการกู้เงิน

 

============

 

สรุปคือ สิ่งที่คุณ Ray Dalio เชื่อ มีตามนี้ครับ

 

1. การที่ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0% โดยขาดการใช้มาตรการของธนาคารกลางที่มีประสิทธิภาพอื่น ๆ

จำเป็นต้องใช้มาตรการทางการคลังที่มีคิดเป็นเม็ดเงินมหาศาลมาก ๆ

 

และจะต้องมีเป้าหมายไปช่วยเหลือกลุ่มคนที่เจอปัญหาจริงๆจากโควิด ไม่ใช่หว่านแหไปมั่ว ๆ

 

และต้องได้รับความร่วมมือกับธนาคารกลางในการลดดอกเบี้ยและจัดเต็มเสริมสภาพคล่องให้กับระบบการเงิน

 

2. ตอนนี้มาตรการตอบโต้รับมือ กับโควิดยังถือว่าไม่พอ ทั้งในแง่ขนาด, การโฟกัสเน้นไปที่กลุ่มคนที่เจอปัญหา และความร่วมมือกันอย่างเต็มที่

 

3. ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาเริ่มเห็นความร่วมมือระหว่างนโยบายการจัดหนักจัดเต็มของทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

 

4. สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างความมั่งคั่งและปัญหาทางการเมือง

 

โดยจะเป็นบททดสอบความร่วมมือกันและช่วยเหลือกัน มากกว่าการทำลายล้างกัน ในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้

 

============

 

วันนี้ยาวมาก ยาวจริงจัง แต่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ

 

ถ้าอ่านจบแล้วอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก็จัดมาที่คอมเม๊นท์ข้างล่างนี้ได้

 

ปล.แอด จะพยายามหาเรื่องดีๆ ที่เป็นประโยชน์กับนักลงทุนไทยมากฝาก เรื่อย ๆ นะครับ

 

แต่ถ้าอ่านแล้วชอบ อยากสนับสนุนแอด ก็รบกวนขอกด Like กด แชร์ เพจเป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ 

 

========

 

เริ่มต้นวันนี้ดีที่สุด ขอให้ทุกท่านโชคดีและมีอิสรภาพในการใช้ชีวิต

 

อิสรภาพชีวิต !! อยู่ไหนก็ไม่พลาด อย่าลืมกดติดตามนะครับ หรือเพิ่มช่องทางการสื่อสารได้เลย

 

ส่งข่าวสารถึงมือผ่าน Line@: http://bit.ly/TAM-EIG_LINE
คลิกเลย

Picture of TAM-EIG

TAM-EIG

809

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
error: Content is protected !!