ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง ได้พูดถึงประเด็นที่มีความน่ากังวลที่สุดเอาไว้ว่า ช่วงที่เราเจอโควิด-19 เศรษฐกิจโลกเปรียบเสมือนกับการติดสเตียรอยด์ หากนึกถึงนโยบายการคลังที่เราใส่เข้าไปเหมือนมีสเตียรอยด์ที่มีการกดอาการอยู่ ซึ่งจริง ๆ เราได้รับมาตั้งแต่ปี 2008 แล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่า สเตียรอยด์มีฤทธิ์ในการต้านทานอาการต่าง ๆ ไม่ให้แสดงออกมา นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายก็ไม่ต่างกัน การดำเนินนโยบายแบบน้ำท่วมทุ่งทำให้เราไม่เห็นน้ำอยู่ใต้พื้น
ดังนั้น GDP ในช่วงหลังปี 2009 จึงเหมือนถูกการอัดสเตียรอยด์เข้าไป และในปี 2020 ก็เป็นสเตียรอยด์ขนาดใหญ่ จนกระทั่งมาถึงช่วง GDP ไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาที่ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณเป็นบวกขึ้นมาบ้างแล้ว ทำให้ทางผู้ร่างนโยบายคิดว่าอาการต่าง ๆ ทั้งหมดได้หายทุเลาไปหมดแล้วจึงถอนสเตียรอยด์ออกในทันที แต่จริง ๆ เศรษฐกิจขาดช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะทำให้เศรษฐกิจคุ้นชินว่าจะไม่มีการเสตียรอยด์แล้ว ต้องยืนได้ด้วยตัวเอง ช่วงหลังเราจึงได้ยินคำว่า Stagflation, Recession และ Crisis กันอยู่บ่อย ๆ เพราะตลาดรู้สึกกังวลว่าจะไม่สามารถผ่านการไม่มีสเตียรอยด์ไปได้
พี่อ้วน ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) ได้มองประเด็นที่น่ากังวลที่สุดนั่นก็คือ เรื่องเงินบาทที่อ่อนค่า เนื่องจาก ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต่างอยากให้ค่าเงินแข็ง เพื่อให้ได้เปรียบด้านการนำเข้า อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดในประเทศไทยที่ยังติดลบ เนื่องจากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับเข้ามา และการขาดดุลแฝด ทำให้แรงซื้อของต่างชาติลดลง
สำหรับการมองหาธีมลงทุนในช่วงนี้ แนะนำให้หาธุรกิจที่จะเติบโตฟื้นตัวไปกับ GDP และได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อแบบจำกัด รวมถึงหุ้นประเภท Value Stock เพราะนโยบาย QT ของ FED ที่จะทำให้เงินไหลออกจาก Growth Stock ไป Value Stock มากขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ตลาดยังไม่กลับไปถึงก่อนโควิด มองว่าหุ้นหลายกลุ่มยังมีพื้นที่ให้เติบโตได้อีก จึงฝากถึงนักลงทุนไว้ว่า ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยไม่ได้แย่แต่มีความอึดอัดในการลงทุน ดังนั้นนักลงทุนต้องอดทนและอยู่รอดให้ได้ และใช้โอกาสนี้ในการศึกษาหาความรู้