รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงผู้นำเกิดขึ้นในหลายประเทศเอาไว้ว่า จีนในเวลานี้เป็นที่น่าจับตามองเพราะตอนนี้จีนจะมีการประชุมในส่วนของสมัชชาใหญ่สมัยที่ 20 ทุกคนรู้ดีว่าผู้นำอย่างสี จิ้น ผิง ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป เพียงแต่จะดำรงตำแหน่งภายในระยะเวลายาวนานแค่ไหน ก่อนหน้านี้จีนสามารถควบคุมได้อย่างที่พวกเขาคาดหวังได้ แต่หลังจากที่เห็นแรงต้านจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่ใช้กับเซี่ยงไฮ้นั้น แรงกระเพื่อมตรงนี้อาจจะเป็นการประนีประนอมกันระหว่างคณะกรรมการที่มีคนรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้น
สำหรับผู้นำคนใหม่ของประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้ บอง บองมาร์กอส จูเนียร์เข้ามานั้น หลายคนสงสัยว่าทำไมตระกูลมาร์กอสถึงกลับมาได้ ทั้งที่สมัยมาร์กอสผู้พ่อเคยถูกยกให้เป็นทั้งผู้นำทรราชย์และเผด็จการไปพร้อม ๆ กัน เป็นผู้นำที่ใช้ความรุนแรงและทุจริตคอรัปชันจำนวนมาก แต่ด้วย คนฟิลิปปินส์ ผิดหวังจากการเมืองอย่างซ้ำซาก จนเลือกตั้งโดยไม่สนใจนโยบาย
ฝั่งผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้ก็ได้ ยุน ซอก ยอล เข้ามาซึ่งนโยบายของเขาคือจะเข้าไปเป็นพันธมิตรกับความร่วมมือด้านความมั่นคง เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีไฮเทคและปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน ทำให้ความขัดแย้งระหว่างจีน กับ เกาหลีใต้น่าจะรุนแรงขึ้น ส่วนผู้นำคนใหม่ของฮ่องกง อย่าง จอห์น ลี เรียกได้ว่าเป็นผู้ภักดีต่อปักกิ่ง ด้วยการคัดเลือกผู้นำฮ่องกงต้องผ่านจีนก่อน และปักกิ่งให้สถานะว่าจอห์น ลีเป็นคนรักชาติ มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะลงรับตำแหน่ง แต่คนอื่น ๆ ไม่ได้สถานะนี้ เลยไม่มีใครสมัคร ทำให้จอห์น ลี กลายเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียว อนาคตอาจจะเห็นระยะห่างของฮ่องกงกับจีนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ