ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด มหาชน ได้พูดถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศตอนนี้ว่า ทุกเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน ที่น่าสังเกตก็คือ เริ่มมีการโพสต์เกี่ยวกับค่าเงินญี่ปุ่นที่มีการอ่อนค่าที่สุดในรอบ 20 ปี เงินบาทมีความเป็นไปได้ว่าอีกสักพักก็เริ่มอ่อนค่าลงเหมือนกัน เงินดอลลาร์ก็กำลังแข็งค่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้อาจเรียกได้ว่าโลกกำลังเข้าสู่สภาวะอากาศแปรปรวน มีโอกาสเกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจระลอกใหม่ เป็นช่วงใหม่ของเศรษฐกิจที่กำลังหลุดพ้นจากโควิด ช่วงใหม่ที่เกิดขึ้นมีอะไรต่าง ๆ มากมายรวมกัน สิ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่ามีความผูกโยงเป็นเรื่องราวเดียวกัน เกิดปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมา
สิ่งแรกที่จะต้องมองก็คือ กระแสหลัก (Major Trend) ที่กำลังเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจทั้งหมดในเวลานี้ คือนโยบายการเงินที่ทุกประเทศกำลังพยายามกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือกำลังกลับเข้าสู่แนวทางการรับมือกับเงินเฟ้อ จะเห็นได้จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตอนแรกคิดว่าไม่น่าสร้างผลกระทบเยอะ แต่ครั้งนี้แตกต่างพอสมควร เพราะในกระบวนการดึงสภาพคล่องกลับและการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ จะมีความแตกต่างในแต่ละประเทศทั่วโลก เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันออกไป นำไปสู่การไหลของกระแสเงินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งจนเกิดแรงกดดันในระบบการเงิน กระทบต่อค่าเงินในบางประเทศ
ตามมาด้วยปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเสริม ที่ทำให้ปัญหาที่เผชิญปั่นป่วนกว่าเดิม นั่นก็ก็คือสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีเรื่องของราคาพลังงานและการขาดแคลนอาหารเข้ามา ทำให้ต้นทุนการผลิตแพงขึ้น รวมทั้งการ Lockdown เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน กระทบ Supply Chain ทั้งโลก
ทั้งกระแสหลักและปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเสริม นำไปสู่ผลกระทบที่เกิดขึ้นที่คาดว่าจะลุกลามยาวต่อเรื่องไปอีก 3 ปี ดูเหมือนว่าประเทศที่มีเงินสำรองน้อย จะกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เกิดเป็นคำถามที่ว่าเมื่อมีบางส่วนไต่ขึ้นจากน้ำไม่รอดแล้ว ใครจะเป็นรายต่อไป และ IMF ก็ออกมาเตือนว่ากำลังจะเกิดวิกฤตใน Emerging Market และสุดท้าย สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ Recession จะไม่ใช่ผลกระทบอีกต่อไปแต่จะกลายเป็นเครื่องมือที่ FED ใช้เพื่อจัดการเงินเฟ้อให้อยู่หมัด