คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พูดถึงสถานการณ์โลกที่อาจเข้าสู่ภาวะวิกฤตว่า ปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจบางประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะยากลำบากบ้างแล้ว ต้องยอมรับว่า หลาย ๆ ประเทศที่เจอปัญหาเศรษฐกิจอยู่ในเวลานี้เป็นปัญหาที่สะสมมานานที่สะท้อนการบริหารประเทศที่มีจุดอ่อนในหลาย ๆ ด้าน อีกทั้งการปรับตัวในหลาย ๆ ประเทศก็ยังไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเต็มที่ อย่างเช่นประเทศไทยที่อาศัยแหล่งรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นจากนักท่องเที่ยวจีนหรือรัสเซียนั้นยังคงฟื้นตัวได้ยาก ในช่วงที่เกิดโควิด-19 ยังมีเรื่องของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเกิดขึ้นตามมาติด ๆ ทำให้ปีนี้ถือเป็นปีที่รัฐบาลบริหารประเทศได้ยาก
ส่วนประเทศที่น่ากังวลที่สุดก็คงจะเป็นประเทศศรีลังกา ศรีลังกาเป็นประเทศที่มีการขาดดุลอยู่ 2 เรื่องด้วยกันก็คือ ดุลงบประมาณและดุลการค้า รัฐบาลใช้จ่ายเกินกำลังมากกว่าที่จะหารายได้ ประเทศไหนที่มีการลักษณะการขาดดุล 2 อย่างคู่กันแบบนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าต้องจับตา ส่วนประเทศที่น่ากังวลน้อยก็เป็นประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะมีความสามารถในการตีพิมพ์แบงก์เพื่อชดเชยดุลการค้าได้ นอกเหนือจากนั้นแล้ว ประเทศศรีลังกามีความคล้ายคลึงกับประเทศอื่นที่มีปัญหาในเรื่องการใช้จ่ายในการหาเสียง
คำถามที่ว่า IMF จะเข้ามาอุดรูรั่วประเทศที่เกิดปัญหาได้หรือไม่นั้น คิดว่าหากเข้าโครงการ IMF จะมีข้อดีอย่างหนึ่งก็คือ IMF จะไม่ได้แต่ให้เงินมาแต่จะมีเงื่อนไข อย่างเช่น ประเทศไทยที่ IMFเคยมีการเสนอเงื่อนไขให้ปิดกิจการ 58 สถาบันการเงิน ถ้าหากไม่ทำตามเงื่อนไขนี้ ทาง IMF ก็จะไม่ให้เงินทุน ถ้าหากประเทศยอมเข้า IMF ส่วนใหญ่ก็จะมีวิธีการที่ปรับตัวและเอาตัวรอด กรณีของศรีลังกาไม่อยากเข้า IMF เพราะมีเงื่อนไขเยอะมาก บางเงื่อนไขอาจกระเทือนไปถึงอภิมหาเศรษฐีบางคนด้วย
ส่วนความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือวิกฤตนั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยเจอปัญหาโควิดที่ยังตั้งหลักไม่ค่อยได้ ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเลิกสร้างหนี้สาธารณะมาเพื่อคะแนนประชานิยม และหันมาการกระตุ้นเรื่องนวัตกรรมให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้ประเทศขับเคลื่อนด้วย SME และเข้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ลงไประดับชุมชนจริงๆ ในด้านราคาพลังงานที่ไม่น่าจะลดลงง่าย ๆ รัฐบาลจะเอาหนี้มาอุ้มราคาพลังงานตลอดไปไม่ได้ ต้องปล่อยให้ราคาน้ำมันขยับสูงขึ้น พร้อมสร้างบรรยากาศให้เกิดการประหยัดอย่างแท้จริง