ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด มหาชน ได้พูดถึงความเป็นไปได้ที่ FED อาจคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อต่ำเกินไปว่า โดยปกติแล้วการคาดการณ์ของ FED จะมีการมองอนาคตไปอีก 2 ปีข้างหน้าเพราะนโยบายการเงินจะต้องใช้เวลา มองว่าตอนนี้ FED กำลังทำงานภายใต้ความไม่แน่นอนจำนวนมาก เพราะหากเทียบกับในช่วงปี 2014-2015 สถานการณ์ตอนนั้นเป็นใจอย่างยิ่งในการที่จะถอนสภาพคล่องออกไป เพราะว่าตอนนั้นมองไม่เห็นเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันก็อ่านสถานการณ์ออกในการที่จะค่อย ๆ ขึ้นดอกเบี้ยและถอนสภาพคล่อง แต่ปัจจุบัน FED เริ่มกังวลใจ ทั้งตลาดแรงงานที่ดูเหมือนจะคึกคัก ทำให้มองได้ว่าเศรษฐกิจเวลานี้ดีมาก แต่หลังจากนั้นเริ่มเจอปัญหาต่าง ๆ ตามมา ทั้งสงครามรัสเซีย – ยูเครนที่ไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร ต่อเนื่องด้วยมีปัญหาในประเทศจีนกับฮ่องกงที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา
ส่วนการที่ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มมีการปรับอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นนั้น มองได้ว่า ยุคดอกเบี้ยต่ำได้จบลงแล้ว ผู้ว่า การธนาคารกลางเองก็มองว่าโควิดกำลังจะจากเราไป เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจก็ไม่มีความต้องการที่จะต้องได้รับแรงกระตุ้นมากเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว ถึงเวลาที่ต้องถอนสภาพคล่องทางการเงินที่มีมากเกินไปนี้ออกจากเศรษฐกิจเสียที เพราะหากปล่อยให้ดอกเบี้ยอยู่ในอัตราที่ต่ำต่อไป อาจก่อให้เกิดวิกฤตเงินเฟ้อและสารพัดปัญหาอีกหลายอย่างตามมา จึงถึงเวลาแล้วที่ FED ต้องควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสมและไม่ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงมากไปกว่านี้
คำถามที่หลายคนสงสัย ถ้าหากประเทศไทยไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดอะไรขึ้นอะไรขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือหากอเมริกาปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้เกิดความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ย กระแสเงินไหลจะออกจากไทยและไหลกลับเข้าไปในอเมริกา ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าและค่าเงินบาทอ่อนค่าในระยะยาว