ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บล. เกียรตินาคินภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้พูดถึงสถานการณ์ที่ธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือ FED จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ว่า นโยบายการเงินของสหรัฐฯ ปกติแล้วจะขึ้นดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.25 % ถ้าหากมีการขึ้นมากกว่านั้นถือเป็นการส่งสัญญาณที่ค่อนข้างรุนแรง เพราะหน้าที่ของ FED ปกติแล้วจะมีอยู่ 3 อย่างด้วยกันก็คือ 1.การบริหารจัดการเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ 2.ทำให้มีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับที่ต่ำ 3.รักษาอัตราดอกเบี้ยระยะยาวและอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ
แม้เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน อีกทั้งยังมีเรื่องของราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่การที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ FED ต้องเร่งเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้น ก็ต้องมาดูก่อนว่าช่วงที่เกิดสงครามเช่นนี้ มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะเกิดการชะลอตัวลงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่า พอตลาดหุ้นเริ่มตก การใช้จ่ายของผู้คนก็เริ่มลดน้อยลงตามมา และยังมีสัญญาณหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นนโยบายการคลังที่มีการอัดฉีดเงินเข้ามามากในปีที่ผ่านมา ก็เริ่มมีการชะลอแล้วในปีนี้ อีกทั้งประเทศจีนก็เริ่มมีการระบาดของโควิดอีกครั้ง เหล่านี้อาจทำให้อุปสงค์กับอุปทานในเศรษฐกิจโลกกลับมาชะลอตัวลง
สำหรับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจของ FED นั้น มองว่าว่า FED อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของสงครามที่เกิดขึ้นมากนัก แต่จะให้ความสำคัญเรื่องภาพรวมทางเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากสงครามมากกว่า เพราะเรื่องสู้รบ อาจไม่สำคัญเท่ากับมาตรการคว่ำบาตรที่มีผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้น ถ้าหากว่ารัสเซียถูกตัดออกจากตลาดโลกจริงก็จะส่งผลกระทบต่อราคาตลาดทั้งหมด และที่สำคัญก็คือจะกระทบต่อผู้บริโภคที่มีค่าครองชีพที่สูงขึ้น
สุดท้ายแล้วราคาน้ำมันะเป็นอย่างไรไปนั้น มองได้ 3 ภาพใหญ่ ได้แก่ 1.) อาจมีการเคลื่อนไหวแบบสายกลางต่อให้มีการคว่ำบาตร 2.)ในช่วงที่ราคาน้ำมันเป็นขาขึ้นนั้น จะมีการปรับเพิ่มขึ้นนานแค่ไหน 3.) จะมีการขาดแคลนสินค้าพวกนี้หรือไม่
ดร.พิพัฒน์ ให้ความเห็นว่า สำหรับประเทศไทยเวลานี้ควรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพราะตอนนี้ประเทศไทยกำลังเจอกับสถานการณ์ใหญ่ 3 เรื่องด้วยก็คือ 1.) ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น 2.) การที่รัฐบาลพยายามควบคุมราคาสินค้า ซึ่งหากมีการควบคุมนาน ๆ ก็อาจเจอกับปัญหาการขาดแคลน 3.) ทำอย่างไรให้ประเทศพึ่งพาพลังงานให้น้อยลงในระยะยาว และเริ่มลงทุนหรือหันไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น