รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาพูดถึงการที่ประเทศจีนได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตต่ำสุดในรอบ 10 ปีว่า จีนได้เคยส่งสัญญาณเรื่องนี้มานานพอสมควรแล้ว เพราะสิ่งที่จีนต้องการตอนนี้คือไม่ต้องการโตเร็วแบบหวือหวา แต่จีนต้องการที่จะเติบโตอย่างสม่ำเสมอและมีเสถียรภาพ แผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนแต่ละครั้งจะมีระยะเวลา 5 ปี โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจครั้งที่ 14 นี้ จีนต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างสม่ำเสมอและคงที่ประมาณ 4.5-6.5 % และจะเติบโตแบบนี้ต่อเนื่องภายในระยะเวลา 15 ปี เพราะตัวเลขนี้จะทำให้จีนสามารถประคับประคองประเทศให้เดินต่อไปได้ และจีนยังมีการตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2035 จีนจะแซงหน้าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ
ดังนั้นจะต้องยอมรับว่า เป้าหมายจีนไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องของการเติบโตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องการเติบโตอย่างมีคุณภาพแทน แล้วจีนก็จะเน้นเรื่องของหลักการเจริญรุ่งเรืองร่วมกันโดยแก้ปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางสังคมรวมไปถึงปัจจัยอะไรก็ตามที่จะทำให้จีนนั้นไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
แม้จีนจะมั่นใจว่าจะสามารถแซงหน้าประเทศสหรัฐอเมริกาได้ แต่จะแซงหน้าอย่างไรให้มีคุณภาพ ซึ่งจีนเองก็ยังกังวลเรื่องของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นในประเทศยุโรปว่าอาจทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจหยุดชะงักลง รวมไปถึงกังวลเรื่องของการใช้นโยบายหดตัวของธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือ FED ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการประกาศการขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 7 ครั้งซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้เงินไหลเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงมีความกังวลเรื่องที่จีนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีของประเทศตะวันตกได้ และปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์จากการที่สหรัฐอเมริกาได้ใช้ยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน และปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ทำให้จีนไม่เพียงแค่กำหนดเป้าหมายในเรื่องของ GDP เพียงอย่างเดียว แต่กำหนดเป้าหมายของเงินเฟ้อและเรื่องอื่น ๆ ด้วย
ส่วนการที่จีนจะมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นนั้น มาจากการที่เงินหยวนน่าถือมากยิ่งขึ้น เหตุผลมาจากการที่สถาบันหลายแห่งเริ่มมองแล้วว่า ระบบ SWIFT เริ่มไม่มั่นคงอีกต่อไป เพราะหากประเทศใดประเทศหนึ่งถูกเตะออกจาก SWIFT ขึ้นมา ทำให้ประเทศนั้นไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ เพราะฉะนั้นหลายประเทศจึงเริ่มมองแล้วว่าต้องมีระบบสำรอง และระบบสำรองที่คนพูดถึงมากก็คือ ระบบ CIPS ที่ออกแบบโดยธนาคารกลางของจีน ซึ่งหลังจากมีการใช้งานในปี 2015 ระบบ CIPS ก็เริ่มมีสมาชิกเข้ามาสมัครมากถึง 103 ประเทศ หรือประมาณ 1280 ของสถาบันการเงิน โดยเมื่อปีที่แล้วมีการใช้งานระบบ CIPS ถึง 12.68 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐด้วยกัน ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เยอะเหมือนกับ SWIFT แต่เมื่อยอดการใช้งานตั้งแต่ปี 2015-2022 ก็ถือว่าเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
คาดว่าการเปลี่ยนแปลงในระเบียบโลกนั้น เวลานี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะมากแล้ว นาทีนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า สิ่งที่เราเคยเรียกว่าเป็นระเบียบโลกที่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาล่มสลายไปแล้วจริง ๆ และอเมริกาจะไม่สามารถที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ทุกอย่างได้เหมือนกับที่เคยเป็นมาในอดีตอีกต่อไป