คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พูดถึงความเห็นของบุคคลที่มีชื่อเสียงที่แสดงท่าทีกังวลกับวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเอาไว้ว่า โควิด-19 เป็นวิกฤตที่ปราบเซียนนักวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากหลายประเทศมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวลงช่วงหนึ่ง อย่างเช่นรัฐบาลของสหรัฐอเมริกากับยุโรป ได้ใช้มาตรการโปรยเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยการใช้โปรยเงินครั้งนี้ถือว่าหนักกว่าหลายวิกฤตที่ผ่านมา ซึ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเวลานี้ เปรียบเสมือนกับการกระตุ้นด้วยยามอร์ฟีนและให้น้ำเกลือ ทำให้กำลังซื้อพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก
สถานการณ์ที่คุณธีระชัยมองว่า เป็นระเบิดเวลาที่น่ากังวลนั้น ก็คือสถานการณ์ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในแถบยุโรป การเจรจาทวิภาคีระหว่างประเทศรัสเซีย-ยูเครนนั้น หลายฝ่ายไม่แน่ใจว่า จะเกิดอะไรขึ้นอีกต่อไป การถอนทัพของประเทศรัสเซียถือว่าช่วยให้บรรยากาศการลงทุนคลายความตึงเครียดลงไปได้บ้าง แต่เรื่องนี้ยังคงไว้วางใจไม่ได้ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ประเทศยูเครนถูกบุกได้ตลอดเวลา
คาดว่าสงครามนี้ จะเป็นสงครามที่มีประเทศจีนเข้ามาจับจ้องอยู่ จากการที่สหรัฐอเมริกาได้บีบบริษัท Huawei ไม่ให้ขายโทรศัพท์มือถือและให้มีการใช้ชิปในการผลิตสินค้า และคราวนี้เป็นสงครามที่สหรัฐอเมริกาจะต้องใช้มาตรการในการตอบโต้ที่เหมาะสม ซึ่งประเทศในแถบยุโรปเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของราคาน้ำมันและก๊าซ ประเทศยุโรปส่วนใหญ่มีการใช้ก๊าซจากประเทศรัสเซียประมาณ 1 ใน 3 ด้วยกัน หากมาตรการตอบโต้ของสหรัฐที่มีต่อรัสเซียเป็นไปอย่างรุนแรง รัสเซียอาจมีความจำเป็นต้องเบรกการส่งก๊าซไปยังยุโรป และเบนเข็มส่งก๊าซไปยังประเทศจีนหรือประเทศอื่น ๆ แทน
ในส่วนของภาวะเงินเฟ้อของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED มีการดำเนินนโยบายแบบเหยียบคันเร่งมากเกินไป ควรที่จะยอมให้เศรษฐกิจในประเทศมีการชะลอตัว แต่เวลานี้กลับเลือกอัดฉีดเงินจำนวนมากแทน ซึ่งการที่เงินเฟ้อมีการปรับตัวสูงเกินไปนั้น ส่วนใหญ่มาจากฝีมือของรัฐบาลสหรัฐเลือกดำเนินนโยบายแบบโปรยเงิน ทำให้เกิดกำลังซื้อจำนวนมาก ส่วน FED จะคอยเป็นผู้อัดสภาพคล่อง ในอดีตที่ผ่านมา FED จะเน้นอัดสภาพคล่องกับตลาดพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นกับระยะยาว แต่คราวนี้ FED กลับเลือกที่จะอัดสภาพคล่องกับพันธบัตรที่มีสัญญาเงินกู้ผ่อนบ้าน ซึ่งมีระยะเวลาสัญญาประมาณ 10-15 ปี ด้วยกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยในการกู้ซื้อบ้านต่ำเกินกว่าความเป็นจริง ทำให้ราคาบ้านบูมสูงขึ้นจนเกิดการปล่อยเช่าที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะดำเนินการทำ QE หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณนั้น สามารถทำได้หากประเทศมีการพัฒนาตลาดพันธบัตร ในการเพิ่มหรือลดปริมาณเงินสามารถทำได้หลายช่องทาง อย่างเช่นในกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถทำได้ด้วยช่องทางปกติ แต่ในการใช้มาตรการ QE ธนาคารกลางทั่วประเทศจะมีมาตรการชะลอเศรษฐกิจด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่สำหรับธนาคารกลางที่มีอิทธิพลนั้น จะเน้นในการขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 14 วัน ส่วนดอกเบี้ยระยะยาวจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
สุดท้ายคุณธีระชัยได้มองอนาคตของค่าเงินดอลลาร์เอาไว้ว่า ที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกาเคยมีหนี้สินจำนวนมากในช่วงปี 1930 และช่วงเข้าสงครามโลกครั้งที่สอง โดยสหรัฐอเมริกาได้ใช้วิธีปล่อยให้ค่าเงินดอลลาร์เฟ้อมากขึ้น หมายความว่า หากใครที่ถือพันธบัตรสหรัฐอยู่ กำลังซื้อก็จะหดหายไปโดยไม่รู้ตัว ต่อมาดัชนี GDP ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และรัฐบาลสามารถเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเพื่อค่อย ๆ ลดหนี้สินในประเทศลง เวลานี้รัฐบาลมีการใช้จ่ายเยอะ มีการโปรยเงินจำนวนมาก เจอกับการขาดดุลมาก อาจทำให้จัดเก็บภาษีได้ยากมากขึ้น ซึ่งหากว่าตลาดหุ้นสหรัฐเกิดภาวะตกต่ำ สุดท้าย FED คงเลือกที่จะดำเนินนโยบายตีพิมพ์แบงก์ใหม่ และการทำแบบนี้ก็เริ่มทำให้อนาคตดอลลาร์ไม่สดใสขึ้นมา