
*สัมภาษณ์วันที่ 6 มกราคม 2565
เก็บภาษีคริปโต หัก ณ ที่จ่าย 15% ทำได้จริง?
ในมุมผู้จัดเก็บภาษี การเก็บเป็นรายธุรกรรมอาจต้องเก็บจากในระบบ เพราะยากที่สรรพากรจะไปตามตรวจสอบได้ คำถามคือแล้วรัฐบาลจะเข้าขอข้อมูลจากระบบของ Exchange ได้อย่างไร โดยเฉพาะ Exchange ในต่างประเทศ และเมื่อ DeFi เป็นการเงินแบบกระจายศูนย์ ระบบการจัดเก็บภาษีของรัฐสามารถเข้าไปถึงระบบ Blockchain แล้วหรือยัง?
ขณะเดียวกัน ในมุมของผู้เสียภาษี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถือเป็น ‘ภาษีประเมินตนเอง’ ดังนั้น ผู้เสียภาษีหรือผู้ลงทุนต้องประเมินตนเองว่า ต้องเสียเท่าไหร่ เป็นเงินได้อะไร ผู้เสียภาษีต้องเก็บ Transaction ทั้งหมด อาจเป็นเรื่องที่ยุ่งยากของผู้เสียภาษีหรือไม่ หรือว่าอนาคตอาจต้องเป็นหน้าที่ของ Exchanger ที่ต้องอำนวยความสะดวกให้ทั้งสองฝ่ายเพราะเป็นผู้คุมการเทรดทั้งหมด
เป้าหมายจะกำหนดแนวทาง
ในด้านของตลาดหุ้น รัฐมีการส่งเสริมโดยการยกเว้นภาษีบุคคลธรรมดาจากกำไร ขณะเดียวกัน ผลขาดทุนเอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่ภาษีคริปโท รัฐกลับไม่ได้มีการยกเว้นภาษีบุคคลธรรมดาจากกำไร ขณะเดียวกันผลขาดทุนไม่สามารถนำไปลดหย่อนได้ จึงมีคำถามต่อมาว่า จริง ๆ แล้วรัฐมีเป้าหมายอย่างไรกันแน่ มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมหรือใช้ภาษีเป็นอุปสรรค?
กรณีเป็น Platform ต่างประเทศจะเสียภาษีซ้ำซ้อนไหม?
สัญญา Double Tax Agreements หรือ สัญญาว่าด้วยการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ระบุไว้ว่าไม่ให้ 2 ประเทศซึ่งมีเงินได้เกิดขึ้น 2 ครั้ง ต้องเก็บภาษี 2 ครั้ง แต่สัญญานี้ครอบคลุมเรื่องคริปโตหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของ Global Policy ที่อยู่ระหว่างการหาข้อสรุป
