3 ธีมลงทุนที่พี่เซียนมี่ ชื่นชอบในปี 2563

7790

 

วันก่อนผมมีโอกาสได้คุยกับ พี่มี่ ทิวา ชินธาดาพงศ์ งานสัมมนาสิทธิประโยชน์ของ KRUNGSRI PRIME (คนมาร่วมงานล้นห้องสัมมนาเลยครับ) เลยอยากจะมาเล่าให้ฟัง

 

“ปีนี้หลายคนอยู่ในภาวะสิ้นหวัง” “แต่ในภาวะแบบนี้ ถ้าเลือกลงทุนให้ถูกตัว ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำ, Fundflow ยังเยอะ, อะไรก็เกิดขึ้นได้ อย่าเพิ่งสิ้นหวังนะครับ” 

 

พี่มี่ชี้ให้เห็นว่าในภาวะตลาดที่หลายคนมองว่าเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่ถ้าเลือกลงทุนดี ๆ ก็ยังมีโอกาสเสมอครับ

 

โอว แค่เริ่มต้นก็สนุกละครับ 

 

มาลุยดูแต่ละธีม ที่พี่มี่ แนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมกันเลยครับ 

 

 

กลุ่มแรก คือ กลุ่มการแพทย์ 

 

1. “ปีหน้าเป็นปีที่มีคนอายุเกิน65 ปีสัดส่วนจะเกิน 20%” พี่มี่เปิดประเด็นจากตัวเลขสถิติ พูดง่าย ๆ คือ ปีหน้า ถ้ามีคนไทยเดินมา 5 คน จะมี 1 คนที่เป็นคนแก่

 

“แต่ถ้าผ่านไปสักอีก 10 ปีข้างหน้า” “ถ้าคนไทยเดินมา 3 คน จะมีคนแก่ 1 คน”

 

2. ผลกระทบจะเกิดอะไรขึ้น? ส่วนหนึ่งคือกระทบกับการจับจ่ายใช้สอยของคนครับ เช่น คนแก่ที่มีงบจำกัด อาจจะประหยัดค่าใช้จ่ายนอกบ้านน้อยลง 

 

อาจจะอยากทำกับข้าวทานเองที่บ้านมากขึ้น และความอยากได้ อยากมีก็ลดลง (ถ้าตอนวัยรุ่นอาจจะอยากซื้อรถหรู ซื้อของแพง ๆ แต่ตอนแก่ความอยากเหล่านี้ก็จะลดลงไปตามวัย)

 

3. แต่จะมีข้อโต้แย้งที่ได้ยินเสมอ ๆ เช่น ถึงคนจะแก่แต่ไม่มีเงินรักษา เพราะคนไทยมีรายได้น้อย, หรือ คนแก่เยอะขึ้นจริง รักษาเยอะขึ้นจริง แต่เด็กเกิดน้อยลง ทำให้เป็นธุรกิจที่เติบโตได้แต่เติบโตไม่เยอะ

 

เดี๋ยวพี่มี่จะค่อย ๆ ไล่เรียงข้อมูลให้เห็นภาพว่าข้อโต้แย้งเหล่านี้ จริงหรือไม่ ลุยอ่านต่อเลยครับ

 

4. “โรคเบาหวานหลอดเลือดหัวใจหลอดเลือดสมอง” คือตัวอย่าง โรคเรื้อรังแต่ไม่ติดต่อ และเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เสียชีวิตมากกว่า 75%

 

ซึ่งถ้าดูตัวเลขสถิติจะเห็นว่า โรคเหล่านี้คนไทยป่วยมากขึ้นทุก ๆ ปีครับ

 

5. นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจประกันสุขภาพเติบโต 12.8% ในทุก ๆ ปี “ในประเทศไทยที่หลายคนมองว่า ธุรกิจชะลอ GDP ชะลอ แต่ประกันสุขภาพยังเติบโตเยอะนะครับ” หมายความว่าการที่เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ทุกคนรู้ว่าจะยอมจ่ายประกันสุขภาพมากขึ้น

 

6. “ผู้สูงอายุเหมือนรถเก่า” ช่างเปรียบเปรยจริง ๆ ครับ 

 

“ตอนเราถอยรถใหม่ ๆ มันเหมือนเด็กแรกเกิด” “เราถอยรถมา 5 ปี แรก มันเหมือนคนอายุ 1- 20 ปี ไม่ค่อยเสียบ่อย”

 

แต่พอเราใช้เกิน 5 ปี เหมือนคนอายุ 20-40 ปี เสียบ้างแต่ยังไม่หนัก “แต่พอเราเป็นคนแก่ที่วัยเกิน 60 ปี เนี่ย” “อัตราการเสียหรือที่ต้องซ่อมจะเสียบ่อยขึ้นเป็นอัตราเร่ง”

 

7. พี่มี่อ้างถึงสถิติตัวเลขการทำประกันชีวิตของคนไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น “ถ้าเทียบจาก 100 คน” คนไทยมีประกันชีวิต 37 ฉบับ, ญี่ปุ่น 322 ฉบับ, สิงคโปร์ 267 ฉบับ และ เกาหลีใต้มี 170 ฉบับ (หมายความว่าโอกาสเติบโตยังสูงมาก)

 

พี่มี่ย้ำว่า นี่เป็นประกันชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะซื้อประกันสุขภาพ พ่วงไปด้วย

 

8. “ผมแบ่งโรงพยาบาลเป็น 3 ระดับคือ บน, กลาง, ล่าง” “ผมคิดว่า รพ.รัฐ ไม่ได้เป็นคู่แข่งทางตรงกับเอกชน“

 

พี่มี่อธิบายว่า ตอนนี้จำนวนเตียงของรพ.ขาดแคลนมาก ๆครับ มีเพียง 122,470 เตียง อยู่ระดับนี้มานานกว่า 5 ปีแล้วครับ (เทียบอัตราส่วนกับจำนวนประชากรแล้ว มีน้อยกว่า ญี่ปุ่นกว่า 4 เท่า)

 

“ตอนนี้ขาดแคลนเตียงคนไข้ เพราะคนไข้ใน CLMV มาช่วยใช้บริการ” “เพราะหมอเราเก่ง และค่ารักษาพยาบาลมีราคาถูก”

 

9. ตอนนี้จะเปิดรพ.แห่งใหม่ ไม่ง่ายเพราะอาจจะติดปัญหาเรื่องคุณหมอ เพราะคุณหมอจบใหม่เพียงแค่ 2 พันคน ไม่เพียงพอครับ

 

10. อีกตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจคือ อัตราการเกิดของคนไทย 

 

“ในปี 2555: 8.18 แสนคน , 2556: 7.82 แสนคน, ปี 2557: 7.76 แสนคน, ปี 2558: 7.36 แสนคน, 2559: 7.04 แสนคน, 2560: 7.02 แสนคน, 2561: 6.66 แสนคน” โอ้ ชัดมากครับว่า นับตั้งแต่ปี 2555 จำนวนคนไทยเกิดน้อยลงชัดเจนมาก

 

 แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจของพี่มี่ คือ การที่คนยุคก่อนจะไปหาคุณหมอ จะต้องป่วยหนักจริง ๆ แต่สมัยนี้ไม่ใช่ครับ เพราะคุณพ่อคุณแม่ พาลูกไปโรงพยาบาลบ่อยขึ้น “อาจจะเป็นเพราะเรามีลูกยาก เรามีลูกน้อย ทำให้เรารักลูกเยอะ” 

 

และเด็กทุกวันนี้มีประกันสุขภาพมากขึ้น เลยทำให้คุณพ่อ คุณแม่พาลูกเข้ารพ.ได้บ่อยขึ้น

 

12. นั่นหมายความว่า การที่คนไทยเกิดน้อยลง แต่กำลังถูกชดเชยด้วยจำนวนครั้งที่เด็กเข้ารพ.บ่อยครั้งมากขึ้น และราคาค่ารักษาพยาบาลก็มีแนวโน้มแพงขึ้น

 

ดังนั้นพี่มี่ นักลงทุนมากประสบการณ์จึงมองว่า ธุรกิจนี้ยังมีโอกาสที่จะเติบโตมากขึ้น

 

13. แต่อีกมุมหนึ่ง คือ กลุ่มประกันสังคม ที่มีผู้ขอใช้สิทธิมากขึ้นเรื่อย ๆ และกรณีที่รัฐบาลเตรียมปรับขึ้นค่าประกันสังคมก็จะเป็นโอกาสที่ผลประกอบการจะเติบโตสูงขึ้น

 

14. วิธีการมองหุ้นกลุ่มนี้ให้มองศักยภาพการเติบโตของบริเวณรอบ ๆ ด้วยครับ “เวลาจะลงลึกกลุ่มนี้จริง ๆ ผมจะไปดูพื้นที่ใกล้ ๆ รพ.ว่ามีการขยายตัวของเมืองอยู่หรือป่าว”

 

15. ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี และไม่ดีไปอีกสักระยะนึง พี่มี่จะเลือกรพ.ที่ไม่แพง หรือมีรายได้จากประกันสังคม

 

มากกว่า ที่จะเลือกลงทุนในหุ้นโรงพยาบาลที่จ่ายเงินสด และจะเน้นว่าแถว ๆ นั้นมีโรงพยาบาลเกิดขึ้นไม่เยอะ ทำให้การแข่งขันไม่ดุเดือด

 

16. พี่มี่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ารพ.ระดับพรีเมี่ยม หรือระดับบน ปีนี้จะมีการเปิดเพิ่มเพียงแค่ 3 รพ. ครับ (Med Park M-CHAI หุ้นกับเสี่ยเจริญ, แห่งที่ สอง เป็นของ CP ตรงบางนา และวิมุติ ของพฤกษา) เป็นกลุ่มที่ต้องลุ้นกับคนไข้ต่างชาติ

 

17. พี่มี่เสริมว่า รพ.ที่เป็นเชน มีหลายสาขา จะมีความได้เปรียบจากการซื้อของได้ถูกลง (economy of scale) และสามารถใช้ประโยชน์จากค่าคุณหมอที่แบ่งหลาย ๆ สาขาได้ ไม่ต้องแบกต้นทุนที่สาขาเดียว

 

แต่ก็มีข้อเสียบางอย่าง พี่มี่ยกตัวอย่างว่าคล้าย ๆ กับห้างสรรพสินค้า ที่บางสาขาอาจจะอยู่ในทำเลทอง แต่บางสาขาอาจจะอยู่รอบนอก

 

แต่ถ้าเป็น รพ.ที่มีสาขาเดียว ควรดูความสามารถในการรักษาโรคเฉพาะทางที่เหนือกว่าคนอื่น หรือ อาจจะอยู่ในพื้นที่ที่คนอื่นเข้ามาไม่ได้ “เพราะปกติเราเลือก รพ. จาก ใกล้บ้าน และหมอเก่ง” เป็นคำพูดที่เป็นเหตุเป็นผลมากครับ

 

 

ธีมที่สอง คือ หุ้นเติบโตในตลาดโลก

 

1. “เหตุผลที่ธีมนี้น่าสนใจมาก เป็นเพราะเศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยลง ทำให้ต้องหาโอกาสเติบโตในตลาดโลก” ”การที่จะไปตลาดโลกได้ จำเป็นต้องมีจุดแข็งอะไรบางอย่าง” พี่มี่ เปิดธีมนี้ ทำให้ผู้ฟังได้ฉุกคิดไปพร้อมกันทั้งห้องครับ

 

2. พี่มี่ยกตัวอย่าง TK ฐิติกร หนึ่งในผู้นำธุรกิจสินเชื่อมอไซด์ในไทยที่ตอนนี้รุกขยายธุรกิจ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านเช่น สปป.ลาว กัมพูชา

 

“ธุรกิจนี้ในเมืองไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับหลายประเทศ โดยเฉพาะการเปิดตลาดไปในแถบ CLMV ที่คนไทยมีความได้เปรียบ” และตลาดเพื่อนบ้านเหล่านี้ยังมีโอกาสเติบโตสูงมาก เพราะยังมีวัยรุ่นที่ยังขี่จักรยานยนต์เยอะมาก

 

แต่ต้องระมัดระวังการลงทุน ต้องติดตามพอร์ตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพราะลดลงเยอะพอสมควร (พอร์ตต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% แต่ทำกำไรได้ประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งบริษัท) 

 

3. ข้อเสนอแนะในการจับจังหวะในการลงทุน คือ จุดที่พอร์ตในไทยเริ่มนิ่ง เริ่มไม่ลดลง แต่ต่างประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด (ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่)

 

เพราะประเทศไทย มีประสบการณ์ทำมาก่อน, มีต้นทุนที่ถูกกว่าผู้ประกอบการท้องถิ่น, และมี know-how ในการบริหารจัดการที่ดีกว่าหลายประเทศ

 

4. นอกจากนี้ยังมี M-150 ไปเปิดตลาดที่เมียนมา และเปิดโรงงานทำขวดที่เมียนมา และมีโอกาสไปเจาะตลาดที่จีนด้วย (แต่ต้องรอติดตามกันยาว ๆ)

 

5. ส่วนอีกหนึ่งบริษัทที่นำไปขายในเวียดนามเป็นจำนวนมาก คือ เถ้าแก่น้อย ครับ เพราะไปขยายในจีนมากขึ้น “แต่ลึก ๆ ในความรู้สึกผมคือ ในไทยอาจจะเริ่มอิ่มตัวแล้ว” เหตุผลคือสังเกตจากเด็ก ๆ ที่เริ่มกินน้อยลง

 

แต่ตลาดในจีนก็น่าสนใจเพราะเถ้าแก่น้อยมีการเปลี่ยนผู้จัดจำหน่าย ซึ่งต้องติดตามว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่

 

“สิ่งที่เราต้องทำการบ้านคือ ในตลาดจีนกลับมาได้หรือไม่หลังจากเปลี่ยนผู้จัดจำหน่าย” ถ้ายอดขายในจีนกลับมา ก็มีโอกาสที่ราคาหุ้นจะกลับมาได้

 

6. อีกรายคือ อิชิตัน บุกตลาดอินโดนีเซีย ที่ใช้สไตล์การทำตลาดคล้าย ๆ เมืองไทย (ที่แจกรางวัล)

 

สินค้าที่ขายดี คือ ชาไทย ชานมไทย

 

7. สินค้าไทยอีกอย่างที่ไปได้ดี คือ โมกุ โมกุ ที่เปิดตลาดในเกาหลีใต้ เพราะเป็นหนึ่งในตลาดที่หินที่สุดในโลก รองจากญี่ปุ่น แต่โมกุ โมกุ กลับทำผลงานได้ดีสุด ๆ

 

“ยอดขายของโมกุ โมกุ ในเกาหลีใต้ในปี 2016 เติบโต 3 เท่า และปีถัดมาเติบโต 9 เท่า” และ ปีถัดไปเติบโตอีก 127% ในปี 2018

 

จุดที่พี่มี่มองว่าน่าสนใจคือ ล็อตเต้ ยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้ที่มาซื้อลิขสิทธิ์จากโมกุ โมกุ เอาไปทำไอศกรีม

 

 

ธีมที่สาม คือ ธีมหุ้นต่ำ Book ลงเยอะมาก และไม่ถูก disruption 

 

1. “ธีมนี้มีหลายตัวน่าสนใจครับ” แต่เป็นธีมหุ้นสิ้นหวัง ที่ถูกขายหนักเหลือ P/BV 0.5 เท่า “แต่ถ้าจะให้ดีแนะนำให้ดูตัวที่ P/BV ต่ำกว่า 0.5 เท่า”

 

พี่มี่แนะนำให้เลือกหุ้นที่ร่วงลงมาแรง ๆ แต่อุตสาหกรรมยังเติบโตดี ยังสามารถทำธุรกิจที่ดี

 

2. “อุตสาหกรรมอสังหาฯ มีหลายตัวที่เข้าเกณฑ์ แต่ต้องเลือกดูดี ๆ” พี่มี่เล่าจากประสบการณ์ตรงเลยครับว่า มีหุ้นหลายตัวที่ยังใช่ แต่บางตัวก็ไม่ใช่

 

3. พี่มี่มองว่าการลงทุนตามธีมนี้จะต้องเป็นคนที่คาดหวังอยากได้ผลตอบแทนเยอะ ๆ (เพราะมีความเสี่ยงพอสมควรครับ)

 

4. หลัก ๆ ให้เน้นมองหาหุ้นที่ยังไม่โดน disrupt ด้วย

 

5. “ยกตัวอย่างอีกตัวหนึ่ง คือ แอร์เอเชีย (ราคา) หุ้นลงมาเหมือนเครื่องบินระเบิด” “ราคาร่วงประดุจเหมือนเป็นคนที่โดนอิหร่านยิงมิสไซล์ใส่” พี่มี่ปล่อยมุขฮาทั้งห้องเลยครับ  

 

พี่มี่เสริมต่อว่า “ปีนี้เริ่มเห็นคู่แข่งที่ขาดทุนหนัก ๆ มันจะขาดทุนได้ต่อไหม?”

 

และเมื่อหันไปดูจะเห็นว่าการท่องเที่ยว ยังเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ยังพอฝากความหวังไว้ได้บ้าง เพราะฉะนั้น (ไทย) แอร์เอเชีย ก็อาจจะเป็นหุ้นที่เก่ง แต่อยู่ในอุตสาหกรรมที่แย่ ในความเห็นของพี่มี่ครับ เพราะตอนนี้จะเห็นว่าแอร์เอเชีย บริหารจัดการต้นทุนได้เก่งมาก 

 

6. จุดเด่นของการลงทุนในหุ้นธีมนี้คือ ให้ซื้อตอนที่คนส่วนใหญ่สิ้นหวัง แต่การลงทุนในหุ้นกลุ่มเหล่านี้ ต้องดูดี ๆ หาหุ้นดี ๆ ให้เจอ แต่อย่าทุ่มไปเยอะ

 

 

จริง ๆ พี่มี่ยกตัวอย่าง 3 เทรนด์แต่ขอพี่มี่แถมมุมมองธีมนี้ให้หน่อยครับ สำหรับการประมูล 5G

 

1. เทคโนโลยี 5G จะเร็วกว่า 4G ประมาณ 10 เท่า และมีความหน่วงต่ำกว่า 4G ประมาณ 10 เท่า

 

2. ในมุมมองของพี่มี่มองว่า สำหรับ operator ยังไม่ได้ประโยชน์มากมายนัก เพราะการประมูลรอบนี้แม้ว่าจะไม่แพงมากนัก แต่ก็ต้องประมูลซึ่งจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาเช่นกัน

 

“แต่สิ่งที่ผมมองไม่ออก คือ เราจะยอมจ่ายแพงขึ้นหรือไม่” นั่นหมายความว่าต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่ม แต่รายได้อาจจะไม่เพิ่มครับ

 

3. พี่มี่ยกตัวอย่าง ตอนช่วงเปลี่ยนผ่านจาก 3G ไป 4G ว่า เราได้จ่ายค่าโทรศัพท์แพงขึ้นหรือป่าว  ส่วนใหญ่ก็คงไม่ เพราะมีโปรโมชั่นมากมาย

 

4. แต่ช่วงที่ internet of things เริ่มเป็นกระแสมาแรงในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ก็อาจจะทำให้ operator ได้ประโยชน์ได้เช่นกันครับ

 

5. ทั้งนี้พี่มี่มองว่า บริษัทที่ขาย solution น่าจะได้ประโยชน์จาก 5G โดยน่าจะได้ประโยชน์ในปีหน้า

 

======

 

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ ขอให้ทุกท่านโชคดี และมีอิสรภาพในการใช้ชีวิต #ถามอีกกับอิก

Picture of TAM-EIG

TAM-EIG

7790

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
error: Content is protected !!