tam-eig.com

พลิกโฉม สปป.ลาว ก้าวสู่ Transit Hub เชื่อมโลกการค้า

พลิกโฉม สปป.ลาว ก้าวสู่ Transit Hub เชื่อมโลกการค้า

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน หลายประเทศต่างก็เจอศึกหนักจากทั้งวิกฤตโควิด-19 สงครามระหว่างประเทศ หรือเงินเฟ้อ แต่เมื่อปัจจัยหลาย ๆ อย่างเริ่มคลี่คลายแน่นอนว่านักลงทุนอย่างพวกเราก็คงต้องเริ่มมองหาโอกาสในการลงทุน⁣⁣
⁣⁣
สปป.ลาว เองก็เจอกับความท้าทายไม่น้อยเช่นกัน ทั้งต้นทุนสินค้าและบริการที่พุ่งสูงขึ้นตามทิศทางของเงินเฟ้อ ความผันผวนของค่าเงินกีบ หรือปัญหาขาดดุลการค้า ⁣⁣
⁣⁣
แต่ ณ นาทีนี้ เศรษฐกิจของ สปป.ลาว กลับเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว บวกกับหลายกลยุทธ์ที่วางไว้สนับสนุนการเติบโตระยะยาวเริ่มผลิดอกออกผล⁣⁣
⁣⁣
สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีอะไรบ้าง และเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่อยากลงทุนเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนสม่ำเสมอและเติบโตไปพร้อมกับ สปป.ลาว ได้อย่างไรบ้าง #TAMEIG #ทุกเรื่องที่นักลงทุนต้องรู้ ชวนเพื่อน ๆ นักลงทุนมาวิเคราะห์กันครับ⁣⁣
⁣⁣
[10 ปีที่ผ่านมากับ GDP เติบโต 6%-7% ต่อปี]⁣⁣
⁣⁣
ข้อสังเกตคือ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจ สปป.ลาว ก่อนการมาของโควิด-19 GDP เติบโตประมาณ 6%-7% ต่อปี และแม้ว่าในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้จะเจอกับวิกฤตโควิด-19 แต่ก็ยังสามารถเติบโตได้ในทุกปี:⁣⁣
⁣⁣
ปี 2563 GDP เติบโต 3.0%⁣⁣
ปี 2564 GDP เติบโต 3.5% ⁣⁣
ปี 2565 GDP เติบโต 4.4%⁣⁣
⁣⁣
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สปป.ลาว คือการส่งออกพลังงานไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 28% ของการส่งออกทั้งหมด (ที่มา: ธนาคารแห่ง สปป.ลาว) โดยมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในคู่ค้าที่สำคัญที่สุด และด้วยเศรษฐกิจไทยและอาเซียนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นรายได้ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอสำหรับ สปป.ลาว⁣⁣
⁣⁣
[4 สัญญาณการฟื้นตัวระยะสั้นและกลางของเศรษฐกิจ สปป.ลาว]⁣⁣
⁣⁣
1) รัฐบาล สปป.ลาว คาดการณ์ปี 2566 GDP จะเติบโตประมาณ 4.5% โดยจะมาจาก⁣⁣
-ภาคการบริการ ขยายตัว 4.7% คิดเป็นร้อยละ 37.5% ของ GDP⁣⁣
-ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 5.0% คิดเป็นร้อยละ 34.2% ของ GDP⁣⁣
-ภาคการเกษตร ขยายตัว 2.5% คิดเป็นร้อยละ 17.2% ของ GDP⁣⁣
-รายได้ภาษี – ภาษีผลิตภัณฑ์สุทธิ ขยายตัว 4.3% คิดเป็นร้อยละ 11.1% ของ GDP ⁣⁣
⁣⁣
โดยการเติบโตหลัก ๆ มาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกพลังงานไฟฟ้า ผลิตผลทางการเกษตรและแร่ธาตุที่ส่งออกได้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากโครงการรถไฟฟ้าลาว-จีน ที่ช่วยทำให้ต้นทุนการขนส่งต่ำลง รวมถึงการค้าภาคบริการที่จะกลับมาฟื้นตัวหลังจากเริ่มเปิดประเทศให้เดินทางได้ ⁣⁣
⁣⁣
2) ตัวเลขเกินดุลการค้า เพิ่มสูงขึ้น⁣⁣
แม้ว่าในช่วงอดีตย้อนหลังไป 10 ปี ตัวเลขดุลการค้าของ สปป.ลาว จะเป็นขาดดุลการค้า แต่จุดที่น่าสนใจคือนับตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 สปป.ลาว สามารถพลิกกลับมามีตัวเลขเกินดุลบัญชีการค้า (Trade Surplus) ได้แล้ว จากมูลค่าการส่งออกที่มากกว่านำเข้า ซึ่งสัดส่วนการส่งออกส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาจากการส่งออกแร่ธาตุ ไฟฟ้า ผลิตผลจากไม้ เยื่อไม้และกระดาษ สินค้าเกษตร เป็นต้น ⁣⁣
⁣⁣
โดยการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่ทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้ดุลการค้าเกินดุลได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น⁣⁣
⁣⁣
3) Foreign Direct Investment (FDI) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น⁣⁣
ตัวเลขเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของ สปป.ลาว มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น⁣⁣
⁣⁣
ปี 2562: 760 ล้านเหรียญสหรัฐฯ⁣⁣
ปี 2563: 970 ล้านเหรียญสหรัฐฯ⁣⁣
ปี 2564: 1.07 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ⁣⁣
(ที่มา: Worldbank.org)⁣⁣
⁣⁣
ประเทศที่เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว อันดับต้น ๆ เช่น จีน เวียดนาม รวมถึงประเทศไทยเอง ซึ่งตัวเลข FDI ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นหนึ่งปัจจัยที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติได้เป็นอย่างดี⁣⁣
⁣⁣
4) การบริหารจัดการงบประมาณที่ดีขึ้น⁣⁣
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สปป.ลาว ขาดดุลงบประมาณ (Budget Deficit) ซึ่งถ้าอธิบายง่าย ๆ ก็หมายความว่า งบประมาณรายได้น้อยกว่างบประมาณรายจ่าย แต่แนวโน้มของการขาดดุลเริ่มขาดดุลน้อยลงเรื่อย ๆ ⁣⁣
⁣⁣
ปี 2563 ขาดดุลงบประมาณ 5.22% ของ GDP เพราะเจอกับวิกฤตโควิด-19⁣⁣
ปี 2564 ขาดดุลงบประมาณลดลงเหลือเพียง 1.3% ของ GDP ⁣⁣
ปี 2565 ขาดดุลงบประมาณลดลงเหลือเพียง 0.3% ของ GDP ⁣⁣
⁣⁣
ตัวเลขขาดดุลที่มีแนวโน้มค่อย ๆ ลดลงเป็นผลจากการที่รัฐบาลออกนโยบายที่มุ่งลดการขาดดุล และการสะสมหนี้ของรัฐบาล ตั้งแต่ก่อนการเริ่มระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สามารถลดการขาดดุลงบประมาณ (Budget Deficit) ลงได้⁣⁣
⁣⁣
โดยรัฐบาลฯ ได้ตั้งเป้าหมายช่วงปี 2564 – 2568 ขาดดุลงบประมาณเฉลี่ยที่ 1% (แต่ไม่เกิน 2%) ⁣⁣
⁣⁣
[2 กลยุทธ์ผลักดันสู่การเติบโตระยะยาว]⁣⁣
⁣⁣
ขยับจากระยะสั้นและกลางมาดูภาพระยะยาวกันบ้างครับ สปป.ลาว มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่วางกลยุทธ์หลักโดยใช้จุดแข็งของประเทศที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวได้ มาดูกลยุทธ์แรกกันก่อนครับ⁣⁣
⁣⁣
1) “แบตเตอรี่” แห่งอาเซียน⁣⁣
⁣⁣
ด้วยภูมิประเทศของ สปป.ลาว ที่เป็นพื้นที่รับน้ำฝนที่ไหลลงผ่านแม่น้ำสายต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 202,000 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 85% ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้เหมาะสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ หนึ่งในพลังงานสะอาดที่ปลอดภัย คุ้มค่าและยั่งยืน ป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและสภาวะโลกร้อน⁣⁣
⁣⁣
สปป.ลาว จึงมีแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าภายในปี 2573 จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งใหม่อีกหลายโครงการ ซึ่งจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจาก 11,000 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศและการส่งออกให้แก่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ตามกรอบความร่วมมือ (MOU) การซื้อขายไฟฟ้า เช่น ไทย กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ⁣⁣
⁣⁣
กลยุทธ์นี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยหนุนให้สปป.ลาวมีโอกาสสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอจากการขายไฟฟ้าพลังงานน้ำ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและในอนาคต⁣⁣
⁣⁣
2) “Transit Hub” เชื่อมโลกการค้าอาเซียน ⁣⁣
⁣⁣
สปป.ลาว เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล ซึ่งเป็นจุดเสียเปรียบหลายประเทศในอาเซียนที่มีทางออกทั้งทางบกและทางทะเลในการขนส่งหรือส่งออกสินค้าต่าง ๆ แต่ สปป.ลาว มีพื้นที่ที่ยาวและมีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทย จีน เวียดนาม เมียนมาร์ และกัมพูชา ทำให้เกิดวิสัยทัศน์ที่จะเปลี่ยนจากประเทศ Land-Locked สู่ประเทศ Land-Linked ⁣⁣
⁣⁣
ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ก็คือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างจุดเด่นทางด้านการคมนาคมขนส่ง ผลักดันประเทศให้เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าของลุ่มแม่น้ำโขง อีกทั้งยังช่วยเปิดประตูการค้าและการลงทุน การท่องเที่ยว สร้างการเติบโตและลดต้นทุนการทำธุรกิจระยะยาวอีกด้วย ผมยกตัวอย่าง 4 โครงการหลัก ๆ ให้ฟังครับ⁣⁣
⁣⁣
<1. โครงการรถไฟฟ้าลาว-จีน>⁣⁣
⁣⁣
เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญของสปป.ลาว โดยมีเป้าหมายเชื่อมโยง สปป.ลาว – จีน และกลุ่มประเทศอาเซียน เชื่อมต่อการส่งออกจาก สปป.ลาว ไปสู่หลายประเทศในอาเซียนและมีแผนที่จะขยายการเชื่อมต่อไปยังยุโรปในอนาคต⁣⁣
⁣⁣
โดยโครงการนี้รถไฟขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าความเร็วสูงถึง 160 กม./ชม. สำหรับผู้โดยสาร ⁣⁣
⁣⁣
ซึ่งจากเดิมที่การขับรถจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปบ่อเต็นจะใช้เวลามากถึง 15 ชั่วโมง ก็จะลดลงเหลือ 4 ชั่วโมงเท่านั้น และการเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปคุนหมิงจะใช้เวลาในการเดินทางไม่ถึง 10 ชั่วโมง ทำให้คาดว่าจะลดต้นทุนการขนส่งลงได้ถึง 30-40%⁣⁣
⁣⁣
โครงการนี้ถือเป็น Mega Project ที่ใช้เงินลงทุนกว่า 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแหล่งเงินลงทุนแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ⁣⁣
⁣⁣
-60% ของมูลค่าเงินลงทุน ประมาณ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นส่วนของหนี้ที่เป็น Project Finance ซึ่งเป็นภาระของบริษัทที่ร่วมลงทุน⁣⁣
-40% ของมูลค่าเงินลงทุน ประมาณ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นส่วนของทุนระหว่างจีนและ สปป.ลาว ⁣⁣
⁣⁣
และในส่วนของทุนระหว่างจีนและ สปป.ลาว ประมาณ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งออกเป็น⁣⁣
⁣⁣
-70% ของเงินลงทุนส่วนทุน (1,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นเงินลงทุนของจีน⁣⁣
-30% ของเงินลงทุนส่วนทุน (730 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นเงินลงทุนของ สปป.ลาว⁣⁣
⁣⁣
ซึ่งในส่วนเงินลงทุนของ สปป.ลาว จะมีแหล่งเงินทุนมาจาก 2 ส่วน (1) ส่วนที่ใช้เงินงบประมาณ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งชำระครบเรียบร้อยแล้ว และ (2) ส่วนที่เป็นเงินกู้จาก China Exim Bank ประมาณ 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยอัตราดอกเบี้ย 2.3% ต่อปี ระยะเวลา 25 ปี และมีระยะปลอดดอกเบี้ย (grace period) ช่วง 5 ปีแรก จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนที่สูง แต่ภาระของทางรัฐบาลลาวคือส่วนที่เป็นเงินกู้จาก China Exim Bank ประมาณ 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าโครงการ⁣⁣
⁣⁣
โครงการนี้มีอายุสัมปทาน 50 ปี โดย สปป.ลาว คาดการณ์ว่าโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของสปป.ลาว และอาเซียน ช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนโดยเฉพาะสินค้าเกษตร เนื่องจากสามารถขนส่งสินค้าที่เน่าเสียง่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น และยังจะช่วยเปิดตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้าน นำไปสู่การสร้าง Commercial and Agricultural Land และการลงทุนใหม่ระหว่างแนวทางสถานีรถไฟ ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้งานในวันชาติลาวที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา⁣⁣
⁣⁣
<2. โครงการทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น>⁣⁣
⁣⁣
ทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็นถือเป็นทางด่วนสายแรกที่ก่อสร้างในประเทศลาว โดยจะมีระยะทางทั้งหมดรวม 445 กม. ช่วยร่นเวลาการขับรถจากเวียงจันทน์ไปบ่อเต็น จากประมาณ 13 ชั่วโมงเหลือเพียง 5 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างลาวและภูมิภาค⁣⁣
⁣⁣
โครงการทางด่วนสายนี้เป็นลงทุนในรูปแบบ BOT (Build-Operate-Transfer) ระหว่างจีน และรัฐบาลลาว ในสัดส่วน 95:5 โดยทางรัฐบาลลาวไม่ต้องใช้เงินลงทุน แต่ให้สัมปทานอายุ 50 ปี ในการเก็บค่าผ่านทางพิเศษ⁣⁣
⁣⁣
<3. ท่าบกท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์>⁣⁣
⁣⁣
เป็นด่านสากลให้บริการด้านพิธีศุลกากรสำหรับสินค้าขาเข้า-ขาออกระหว่างประเทศ และสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญ โดยเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟไทย-ลาว, สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์), และ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ (สถานีปลายทางสำหรับขนส่งสินค้า โครงการรถไฟฟ้าลาว-จีน) บนพื้นที่กว่า 2,387.5 ไร่ ⁣⁣
⁣⁣
ท่าบกท่านาแล้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร รวมถึงจุดเชื่อมจอด (Meeting point) สำหรับรถไฟไทย-ลาว และรถไฟฟ้าลาว-จีน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนทั้งภายในและต่างชาติ โดยคาดว่าจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งด้านคมนาคมพื้นฐาน ปรับสปป.ลาว ให้เป็น Central Transit Hub ⁣⁣
⁣⁣
<4. โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ>⁣⁣
⁣⁣
อย่างที่ได้เล่าไปข้างต้นครับ ไฟฟ้าพลังงานน้ำถือเป็นการส่งออกที่สำคัญอันดับ 1 ของ สปป.ลาว ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ผลิตใน สปป.ลาว เป็นไฟฟ้าพลังงานน้ำมากถึง 80% ของกำลังการผลิตโดยรวม ซึ่งตอบสนองกับความต้องการพลังงานสะอาดในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และจากศักยภาพการผลิตทั้งหมดของทั้งประเทศ คาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 30,000 MW ในระยะยาว⁣⁣
⁣⁣
[โอกาสการลงทุนที่เติบโตไปพร้อมกับ สปป.ลาว]⁣⁣
⁣⁣
แต่แน่นอนว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ในภาพระยะยาว เพื่อต่อยอดจุดแข็งของประเทศนั้น จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนไปแล้วก่อนหน้านี้ และอยู่ในช่วงการเก็บเกี่ยวรายได้⁣⁣
⁣⁣
ล่าสุดกระทรวงการคลังแห่ง สปป.ลาว จึงได้เตรียมเปิดขายพันธบัตรกระทรวงการคลัง ระดมทุนผ่านนักลงทุนในประเทศไทย เพื่อนำไปใช้รีไฟแนนซ์พันธบัตรที่จะครบกำหนดชำระในปี 2566 นี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่องมายาวนานตั้งแต่ปี 2556 ไม่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระ สามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามเงื่อนไขมาโดยตลอด⁣⁣
⁣⁣
โดยกระทรวงการคลังแห่ง สปป.ลาว มีการออกพันธบัตรสกุลเงินบาท (Baht Bond) ในประเทศไทยไปแล้วทั้งหมดกว่า 58,590 ล้านบาท (รวม 26 รุ่น) โดยมีการชำระคืนไปแล้วส่วนหนึ่ง ปัจจุบันมีมูลค่าพันธบัตรคงเหลืออยู่ที่ 30,748 ล้านบาท (รวม 13 รุ่น) ซึ่งจะเป็นพันธบัตรอายุ 3-15 ปี ที่เสนอขายแก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่⁣⁣
⁣⁣
[พันธบัตรกระทรวงการคลังแห่ง สปป.ลาว ครั้งที่ 1/2566]⁣⁣
⁣⁣
ปีนี้กระทรวงการคลังแห่ง สปป.ลาว เดินหน้าระดมทุนผ่านการเสนอขายพันธบัตรครั้งที่ 1/2566 ซึ่งเป็นพันธบัตรชนิด “ระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือพันธบัตร” ในรูปแบบสกุลเงินบาทไทย วงเงินรวมไม่เกิน 3,610.3 ล้านบาท โดยมี 2 ชุด ⁣⁣
⁣⁣
-ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.1% ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2569 ⁣⁣
-ชุดที่ 2 อายุ 4 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.6% ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2570 ⁣⁣
⁣⁣
จุดประสงค์การระดมทุนเพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปรีไฟแนนซ์พันธบัตรชุดเดิม ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2566 โดยกำหนดการชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน⁣⁣
⁣⁣
สำหรับพันธบัตรชุดนี้ จะเสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบัน และ/หรือ นักลงทุนรายใหญ่ ที่ราคาเสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท จองขั้นต่ำ 100 หน่วย โดย ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก Tris Rating ที่ระดับ BBB- และแนวโน้มอันดับเครดิต Negative ⁣⁣
⁣⁣
โดยจะมีการเปิดให้นักลงทุนจองซื้อได้ในวันที่ 31 กรกฎาคม และ 2-3 สิงหาคม 2566 ผู้ที่สนใจ สามารถจองซื้อพันธบัตรกระทรวงการคลังแห่ง สปป.ลาว ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายทั้ง 7 ราย ได้แก่ ⁣⁣
⁣⁣
1.บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ⁣⁣
2.บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด⁣⁣
3.บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน)⁣⁣
4.บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จํากัด (มหาชน) ⁣⁣
5.บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)⁣⁣
6.บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด⁣⁣
7.บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน)⁣⁣
⁣⁣
แต่ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ยังไงอย่าลืมศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ #TAMEIG #ทุกเรื่องที่นักลงทุนต้องรู้ #MOFL⁣⁣

Exit mobile version