tam-eig.com

ธนาคารจีนอาจจะขาดทุนจากวิกฤตอสังหาฯ 12 ล้านล้านบาท

อย่าลืม Subcribe จะได้ไม่พลาด

Facebook | Youtube | Line | Website

ธนาคารจีนอาจจะขาดทุนจากวิกฤตอสังหาฯ 12 ล้านล้านบาท

ธนาคารหลายแห่งในประเทศจีนเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้จำนองที่อยู่อาศัยมูลค่ากว่า 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 12.6 ล้านล้านบาท) จากการคาดการณ์ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด อันเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศลดฮวบ อีกทั้งหน่วยงานที่กำกับดูแลก็ประสบความยากลำบากในการควบคุมผลกระทบที่บานปลายมากขึ้น⁣

วิกฤตจากโครงการอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จที่ทวีความรุนแรงได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้ซื้อบ้านหลายแสนราย ก่อให้เกิดการประท้วงด้วยการไม่ชำระหนี้จำนองที่อยู่อาศัยมากกว่า 90 เมืองและเป็นสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงต่อระบบการเงินในวงกว้าง คำถามสำคัญในเวลานี้ไม่ใช่ “เรื่องนี้จะกระทบกับระบบงานธนาคารของประเทศจีนที่มีมูลค่ากว่า 56 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2 พันล้านล้านบาท) หรือไม่” แต่เป็น “เรื่องนี้จะส่งผลกระทบเป็นมูลค่าเท่าใด”⁣

จากการคาดการณ์ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้ง (S&P Global Rating) ประเมินไว้ว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยมูลค่ากว่า 2.4 ล้านล้านหยวน (3.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 12.8 ล้านล้านบาท) หรือ 6.4% ของหนี้จำนองที่อยู่อาศัยทั้งหมดกำลังอยู่ในความเสี่ยง ขณะที่ธนาคารดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank AG) ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี ก็ออกมาเตือนว่าสินเชื่อบ้านอย่างน้อย 7% กำลังตกอยู่ในสถานะอันตราย ซึ่งนับแต่เกิดวิกฤต ธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้รายงานการผิดนัดชำระหนี้จำนองที่ได้รับผลกระทบจากการประท้วงไของลูกหนี้โดยตรงว่ามีเพียง 2.1 พันล้านหยวน (ราว 1.1 หมื่นล้านบาท) เท่านั้น⁣

“กลุ่มธนาคารกำลังตกอยูในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก” เฉิน จื้ออู่ (Zhiwu Chen) ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการเงินจากคณะพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ได้ให้ความเห็น “หากธนาคารไม่ช่วยเหลือให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จ สุดท้ายธนาคารอาจจะเสียหายหนักมากขึ้น ถ้าเข้าช่วยเหลือ ก็จะทำให้รัฐบาลพึงพอใจแน่นอน แต่ธนาคารจะต้องเสี่ยงปล่อยกู้ให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เสร็จล่าช้ามากขึ้นไปอีก”⁣

ด้วยอิทธิพลจากการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิมตั้งแต่สถานการณ์โควิดที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปอย่างฉับพลัน และการว่างงานของเด็กจบใหม่ที่สูงเป็นประวัติการณ์ รัฐบาลปักกิ่งของจีนได้ให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางการเงินและทางสังคมมาเป็นอันดับต้นๆ และได้มีความพยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด ตั้งแต่เรื่องของการให้มีระยะปลอดหนี้สำหรับการชำระเงินจำนอง และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยให้กู้ยืมผ่านกองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกลางของจีน ซึ่งไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ธนาคารมีบทบาทอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือร่วมกับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล⁣

สถานะความเสี่ยงของธนาคารทั้งหลายในจีนที่มีในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นสูงกว่ากิจการด้านอื่นๆ โดยข้อมูลจากธนาคารประชาชนจีน (People’s Bank of China) มีสินเชื่อจำนองคงค้างอยู่ 39 ล้านล้านหยวน (ราว 200 ล้านล้านบาท) และมีสินเชื่อที่ให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กู้ยืมอีก 13 ล้านล้านหยวน (ราว 68 ล้านล้านบาท) ณ สิ้นเดือนมีนาคม⁣

ตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็น “รากฐานที่สำคัญที่สุด” ของความมั่นคงทางการเงินของประเทศจีน – แกเบรียล วิลเดา (Gabriel Wildau) กรรมการผู้จัดการบริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เทเนโอ โฮลดิ้งส์ (Teneo Holdings) ได้กล่าวไว้ในบทความเดือนกรกฎาคม (https://www.teneo.com/china-mortgage-boycotts-threaten-financial-and-social-instability/) ⁣
ในขณะที่หน่วยงานกำกับกำลังดูแลไม่ให้ความเสี่ยงเกินควบคุม ผู้ให้สินเชื่อที่มีสถานะความเสี่ยงสูงจะเข้ามาอยู่ภายใต้การตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น มีสินเชื่อจำนองราว 34% ของสินเชื่อทั้งหมดอยู่ที่ธนาคารออมทรัพย์ไปรษณีย์จีน (Postal Savings Bank of China Co.; 中国建设银行) และธนาคารการก่อสร้างจีน (China Construction Bank Corp.; 中国建设银行) ณ สิ้นปี 2021 ตัวเลขนี้สูงกว่าเงินกองทุนตามกฎหมาย (regular capital) สำหรับธนาคารใหญ่ที่สุด ซึ่งอยู่ที่ 32.5%⁣

ลูเซีย กวอง (Lucia Kwong) นักวิเคราะห์ของธนาคารดอยซ์แบงก์ กล่าวว่า ประมาณ 7% ของสินเชื่อจำนองคงค้างจะได้รับผลกระทบหากการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง การประมาณการนี้อาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงเนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลโครงการก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จต่างๆ นั้นมีจำกัด⁣

จากรายงานของ ฟรานซิส ชาน (Francis Chan) และ คริสตี้ ฮัง (Kristy Hung) นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ (Bloomberg Intelligence) ระบุว่า เพื่อจำกัดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จีนสามารถใช้ระดับเงินกองทุนส่วนเกิน (excess capital) และเงินสำรองส่วนเกิน (surplus loan provisions) ที่มีอยู่ ให้กับผู้ให้สินเชื่อรายใหญ่ที่สุด 10 รายได้ คิดเป็นจำนวนเงินรวม 4.8 ล้านล้านหยวน (ราว 12.3 ล้านล้านบาท) ⁣

ธนาคารท้องถิ่น ได้แก่ ผู้ให้สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ทั้งในเมืองและในชนบท สามารถรับภาระความรับผิดชอบได้ดีกว่าธนาคารในกำกับของรัฐบาลกลาง จากเงินอุดหนุนภาครัฐที่ได้รับไปก่อนหน้านี้และจากความใกล้ชิดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีมากกว่า แม้ว่าการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่ม (capital buffers หรือเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านต่างๆ ) ของธนาคารกลุ่มนี้จะล่าช้ากว่าค่าเฉลี่ยของลักษณะกิจการมากแล้วก็ตาม⁣

ธนาคารหลายแห่งในจีนมีปริมาณเงินทุนเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ในช่วงครึ่งปีแรกจากการขายพันธบัตร เนื่องจากเหล่าธนาคารเตรียมความพร้อมไว้สำหรับสำรองหนี้เสียที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว⁣

หนี้เสียที่เกิดกับผู้ให้สินเชื่อ ซึ่งเป็นมูลค่ากว่า 2.9 ล้านล้านหยวน (ราว 7.5 ล้านล้านบาท) เมื่อปลายเดือนมีนาคมนั้นพร้อมที่จะทำสถิติใหม่ สร้างแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิดยิ่งขึ้นไปอีก⁣

ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (debt-to-GDP) ของจีน ซึ่งคาดว่าจะไต่ระดับทำสถิติใหม่ในปีนี้ ฝั่งผู้บริโภคเองก็ลังเลใจที่จะกู้ยืมเงินเพิ่มเพื่อซื้อสิ่งต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงกันเกี่ยวกับความเสี่ยงว่าจีนจะเข้าสู่ “ภาวะงบดุลถดถอย (balance sheet recession)” หรือไม่ ด้วยภาคครัวเรือนและบริษัทเอกชนต่างๆ ลดการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนลง⁣

การเพิ่มขึ้นของรายได้หลังหักภาษี (disposable income หรือรายได้ที่บุคคลสามารถนำไปใช้จ่ายได้จริง ซึ่งรายได้ส่วนนี้แสดงถึงอำนาจซื้อที่แท้จริงของประชาชนและการออม) ที่เป็นไปอย่างช้าๆ นั้น บั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ซื้อบ้าน สถานการณ์ราคาบ้านที่ตกต่ำลงในจีนได้ขยายไปถึง 48 เมืองจากทั้งหมด 70 เมืองใหญ่ในเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นจาก 20 เมืองเมื่อเดือนมกราคม⁣

สถาบันเอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) คาดการณ์ว่ายอดขายบ้านอาจจะลดต่ำลงมากถึง 33% ในปีนี้ท่ามกลางกระแสการประท้วงด้วยการไม่จ่ายหนี้จำนอง ซึ่งจะยิ่งลดปริมาณสภาพคล่องของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วและนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นไปอีก ข้อมูลจากบริษัทเทเนโอ (Teneo) ได้พบว่า บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มียอดขายอันดับต้นๆ จำนวน 28 แห่งจาก 100 แห่ง ได้ผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรหรือได้มีการเจรจาขยายเวลาการชำระหนี้กับเจ้าหนี้ไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา⁣

การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนความต้องการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนนั้นดิ่งลงมา 9.4% เมื่อเดือนมิถุนายน⁣

รายได้ของธนาคารเองก็ตกอยู่ในความเสี่ยง หลังจากได้ทำสถิติเมื่อปีที่แล้วโดยมีการเติบโตของกำไรเร็วที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี ในปี 2022 นี้ ผู้ให้บริการสินเชื่อของประเทศกลับต้องเผชิญกับความท้าทาย เมื่อรัฐบาลกลางกดดันให้ร่วมกันอุ้มเศรษฐกิจด้วยราคาที่เคยได้มา⁣

ข้อมูลจากทีมนักวิเคราะห์ซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) นำโดยจูดี้ จาง (Judy Zhang) ที่ได้ประมาณการเอาไว้ในรายงานเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ระบุว่าการปรับตัวลง 10% ของการเติบโตในภาคการลงทุนอสังหาริมทรัพย์นั้นส่งผลให้มีหนี้เสียโดยรวมเพิ่มขึ้น 0.28% ทำให้รายได้ของธนาคารในปี 2022 ลดลงไป 17% ⁣

#เริ่มต้นวันนี้ดีที่สุด ขอให้ทุกท่านโชคดีและมีอิสรภาพในการใช้ชีวิต

 

อิสรภาพชีวิต !! อยู่ไหนก็ไม่พลาด อย่าลืมกดติดตามนะครับ หรือเพิ่มช่องทางการสื่อสารได้เลย

 

ส่งข่าวสารถึงมือผ่าน คลิกเลย

 

#ถ้าไม่อยากพลาดแนวคิดการลงทุนและไอเดียการลงทุนดี ๆ อย่าลืมกด subscribe และ กดกระดิ่งนะครับ คลิกเลย

Exit mobile version