ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกหลายคน มองว่า “วิกฤตการเงินจะมาในปี 2022” เช่นเดียวกันกับคุณพิชัยที่มองว่าปีหน้า เป็นปีที่ก้ำกึ่งระหว่างขาขึ้น และ ขาลงของตลาด แต่ค่อนข้างไปทางลบมากกว่า เพราะในมุมของนักธุรกิจ หรือนักเศรษฐศาสตร์ จะมองเห็นเรื่องเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย การลด QE และหนี้ที่สูง ซึ่งกำลังพันกันเป็นงูกินหางและจะไม่มาเสี่ยงกับ 3-4 เดือนนี้ เพราะเห็นชัดแล้วว่าจะเป็นขาลงในปีหน้า ขณะที่ในไทยเอง กลับมองว่า ตลาด (SET) ในปี 2022 นี้มีแนวโน้มฟื้นตัว จนอาจไปถึง 1750 จุด แม้จะมองเห็นความเสี่ยงของตลาดทั้งโลกแล้วก็ตาม
มุมมองการลงทุนแต่ละสินทรัพย์
สำหรับ ตลาดหุ้นไทย (SET) ปี 2022 มองว่าน่าจะเป็นปีของการพักผ่อนของตลาด จะไม่เห็นตลาดหุ้นขึ้นไปถึง 2000 จุดแน่นอนเพราะตลาดจะเป็นภาพ Sideway Down และมองว่าตลาดที่ 1650 จุดขึ้นไปยังไม่ใช่จังหวะซื้อ เป็นจังหวะที่ควรทยอยลดพอร์ตโดยเฉพาะสำหรับหุ้นที่ขึ้นลงตาม SET เช่น กลุ่มแบงก์ใหญ่ ๆ และกลุ่มพลังงาน (ยกเว้นหุ้นที่อิงกับราคาน้ำมัน) ขณะที่กลุ่มที่ยังปลอดภัย คือกลุ่มที่ไม่ขึ้นลงไปกับ SET เช่น กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง
สำหรับตลาดขนาดกลางและขนาดเล็กอย่าง mai แนะนำให้ดูเป็นรายบริษัทไป และในระยะยาว มองว่าตลาดนี้ไม่น่าสนใจเพียงแต่ยังไม่ถึงเวลาเท่านั้น ส่วน ทองคำ แนะนำว่าให้ถือไปก่อนได้ เพราะค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะทำให้ได้กำไรจากการถือทองคำ ในขณะที่ค่าเงินบาท การที่ไม่มีสัญญาณอะไรเลยนั้น มองว่าเป็นความเสี่ยงมากกว่า รวมั้งค่าเงินสกุลเอเชียจะเป็นเทรนด์อ่อนค่าในระยะยาว อาจได้เห็นค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลงไปถึง 40 บาท/ดอลลาร์ในกรอบระยะเวลาประมาณ 3 ปีนี้ และสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซี ที่ในช่วงที่ผ่านมาคนมีความเชื่อมั่นและเข้ามาลงทุนกันมากขึ้นเรื่อย ๆ มุมหนึ่งอาจมองเป็นด้านบวก แต่อีกมุมก็มองว่าอยู่ในช่วงครึ่งหลังของเทรนด์แล้ว ใครที่อยากเทรด น่าจะยังเล่นได้อีก 5 ปี แต่ความร้อนแรงในระดับที่ขึ้นเยอะ ๆ แบบที่เคยเห็นกัน ก็อาจจะไม่ได้เห็นแล้ว เพราะต่อไปตลาดคริปโทเคอร์เรนซีน่าจะเป็นภาพที่แข็งแกร่งมากขึ้น
คุณพิชัย ยังให้วิธีการมองหาหุ้นด้วยว่า ก่อนจะลงทุนก็ต้องเข้าใจ Management (การบริหารจัดการ) ของธุรกิจนั้นก่อน เพราะถ้าเราไม่เข้าใจรายละเอียด เราจะไม่รู้เลยว่าความเสี่ยงของธุรกิจอยู่ตรงไหน ดังนั้น คนที่ทำธุรกิจหรือได้ประเมินธุรกิจตลอดเวลาก็จะมีความได้เปรียบสูงมาก เพราะจะมองออกว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ และปัจจัยอะไรที่เป็นความเสี่ยง