*สัมภาษณ์วันที่ 21 สิงหาคม 2564
Retail CBDC หรือเงินบาทดิจิตอลจะแก้ปัญหาอะไร
เงินสด เงินอิเล็กทรอนิค และ Retail CBDC ล้วนมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป
เงินสด มีข้อดีคือความเป็นส่วนตัว ไม่สามารถติดตามหรือตรวจสอบ (Track) ได้ ในขณะที่ปัญหาคือ หากต้องการชำระเงินจำนวนมากและระยะทางไกลจะไม่สะดวกและอันตราย
อีกทั้งในช่วงโควิด–19 เงินสดสามารถเป็นตัวกลางแพร่เชื้อโรคได้
ในขณะที่ E-money / Internet Banking ซึ่งมีตัวกลางเป็นสถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการทางการเงินอื่น มีข้อดีคือสามารถโอนหากันในจำนวนมาก ๆ ได้ มีความปลอดภัย ซึ่งแบงก์ชาติเรียกระบบนี้ว่า High Value Payment แต่ของเสียคือการไม่ปกปิดตัวตน ทำให้ไม่มีความเป็นส่วนตัว เพราะทุกรายการสามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งการโอนข้ามระหว่างตัวกลางนั้นทำได้ยาก โดยเฉพาะโอนข้าม Wallet
ดังนั้น Retail CBDC หรือเงินบาทดิจิตอลจึงเข้ามาแก้ปัญหาตรงที่สามารถทำการโอนเงินข้ามค่ายได้ และมีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่า ส่วนข้อเสีย คือไม่มีความเป็นส่วนตัว เพราะทุกรายการสามารถตรวจสอบได้ และตามแผนช่วงแรก การถือ Retail CBDC จะไม่มีดอกเบี้ยและมีการจำกัดจำนวนการทำรายการและจำกัดมูลค่าการใช้งานสูงสุด ซึ่ง Retail CBDC นั้นจะคล้ายกับการถือเงินสดเพียงแต่อยู่ในโลกของดิจิตอล และไม่มีตัวกลางเหมือนกับ E-money หรือ Internet Banking แต่ตัวกลางจะเป็นเพียง Distributor แทน อีกทั้ง Retail CBDC จะมีความเปิดกว้างในการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ มากกว่า
Retail CBDC หรือเงินบาทดิจิตอล จะกระทบสถาบันการเงินอย่างไร
ในระยะเริ่มต้น มีการวางแผนเพื่อไม่ให้ Retail CBDC หรือเงินบาทดิจิตอลกระทบสถาบันการเงิน โดยมีการกำหนดว่า การถือ CBDC จะไม่มีการให้ดอกเบี้ยเหมือนการฝากเงินไว้ที่ธนาคาร และจะมีการกระจายเงินผ่านตัวกลาง เช่น สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการทางการเงินเหมือนเดิม จะยังไม่ให้แบงก์ชาติมาเป็น Distributor และจะมีการกำหนดจำนวนครั้งหรือความถี่ในการทำรายการและมูลค่าสูงสุดในการใช้อีกด้วย
