ภาพรวม เหรียญแต่ละกลุ่ม
สำหรับกลุ่มแรกเป็นเหรียญที่ไม่สามารถเอาไปพัฒนาแอปพลิเคชันอะไรได้ เพราะโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ไม่รองรับ มีคุณสมบัติเป็น Store of Value เหรียญในกลุ่มนี้ เช่น Bitcoin กลุ่มที่สอง Native Chain หรือที่เรียกว่า Layer1 เป็นเหรียญที่ใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียม ในการพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น Ethereum, BNB, SOLANA หรือ LUNA เป็นต้น ซึ่งมูลค่าของเหรียญกลุ่มนี้จะมีการเพิ่ม-ลดตาม Demand-Supply กลุ่มที่สาม Stable Coin เป็นเหรียญที่เหมาะกับการถือในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน สามารถแลกเปลี่ยน (Exchange) เหรียญที่มีความผันผวนสูงมาเป็นเหรียญเหล่านี้และเอาไป Farm ในแพลตฟอร์ม DeFi ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำได้ สุดท้ายประเภท NFT แบ่งเป็นสองกลุ่มย่อย ๆ คือ สายศิลป์ ที่จะประเมินราคาได้ยากเพราะราคาจะขึ้นอยู่กับคุณค่าทางจิตใจ แต่ NFT ที่เป็นสายเกม จะสามารถประเมินพื้นฐานราคาได้ง่ายกว่า ต้องศึกษาแต่ละเกมแยกไปอีกว่าเกมไหนมีโครงสร้างรายได้เป็นอย่างไร ผู้ใช้งานเยอะหรือไม่
ในช่วงที่ตลาดกำลังอยู่ในช่วงปรับราคาลงมา นักลงทุนสถาบันมีการปรับพอร์ตถือ Stable Coin ประมาณ 50% เพื่อรอดูท่าทีของตลาดและอีก 50% จะถือเหรียญที่เชื่อว่าจะสร้างความมั่นคงกับพอร์ตได้ในระดับหนึ่ง เช่น Bitcoin หรือ Ethereum สำหรับพี่คิมให้น้ำหนักเหรียญกลุ่ม Layer1 มากที่สุด ได้แก่พวก Ethereum BNB SOLANA โดยหลักการวิเคราะห์เหรียญโดยทั่วไปของพี่คิมมองว่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ คือตัวสะท้อน Value ของเหรียญและเหรียญหนึ่งจะมีราคาขึ้นหรือลงต้องมีผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นตัวสะท้อนมูลค่าของเหรียญนั้น ๆ
Web 1.0 – Web 3.0 ต่างกันอย่างไร?
สำหรับ Web 1.0 จะเป็นเว็บไซต์ง่าย ๆ ที่ให้เราเข้าไปอ่านซึ่งผู้ใช้งานจะต้องพึ่งพาระบบอย่างเดียว ขณะที่ Web 2.0 จะเป็นเว็บไซต์ที่เราสามารถตอบโต้ด้วยได้ เช่น Facebook ,YouTube ที่เราสามารถกดไลค์ กดแชร์ อัพโหลดคอนเทนต์ต่าง ๆ เข้าไปในเว็บไซต์ได้ แต่หากผู้พัฒนาต้องการปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมบางอย่างก็จะปรับเลยโดยไม่ถามความเห็นผู้ใช้งาน สำหรับ Web 3.0 นั้น จะเพิ่มความเป็น Owner มากยิ่งขึ้น และมีความเป็น Decentralized มากยิ่งขึ้น อาจมีการให้ผู้ใช้งานเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายให้เป็นไปตามที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ต้องการให้เป็นหรือเพิ่มความเป็น Machine Learning ทำให้เว็บไซต์ฉลาดขึ้นสามารถเรียนรู้จากเราได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วย
DeFi จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในปีหน้า
สำหรับปีหน้า คาดว่าจะได้เห็นการคัดสรรทางธรรมชาติว่าแพลตฟอร์มไหนที่มีคุณภาพและสามารถอยู่รอดได้ในทุกตลาด และจะมีเหลืออยู่ไม่กี่แพลตฟอร์มเท่านั้น นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันจะเริ่มให้ความสนใจและกล้าที่จะฝากเงินลงไปในแพลตฟอร์มเหล่านี้มากขึ้น และหลังจากนี้ผลตอบแทนที่ได้ก็อาจไม่ได้หวือหวาเหมือนในช่วงแรก แต่ก็ถือว่ายังสูงหากเทียบกับการฝากเงินทั่ว ๆ ไป เพราะเมื่อแพลตฟอร์มมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ผลตอบแทนจะเริ่มลดลง