ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี หรือโอกาสในการลงทุน Ecosystem ของการลงทุนก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเช่นกัน จึงทำให้พวกเราในฐานะนักลงทุน ต้องคอยมองหาโอกาสการลงทุนอยู่เสมอ ๆ เลยใช่หรือไม่ครับ
ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ผมได้มีโอกาสได้พูดคุยกับวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศ ในงานสัมนา SET in the City 2021 เทรนด์ชีวิตเทรนด์ลงทุน “เมื่อตลาดหุ้นไร้พรมแดน“ ที่ได้เล่าให้ฟังถึงมุมมองและโอกาสต่าง ๆ ในการปรับตัวสำหรับนักลงทุน วันนี้เลยอยากจะมาแชร์ให้ฟังครับ
วิทยากร:
ดร.รินใจ ชาคร
รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
คุณชวินดา หาญรัตนกุล
กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
คุณบรรณรงค์ พิชญากร
กรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
ดร. จิติพล พฤกษาเมธานันท์
นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด
ดำเนินรายการโดย
อิก บรรพต ธนาเพิ่มสุข AFPT
“นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นอะไร”
คุณชวินดา หาญรัตนกุล: ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมและโอกาสการลงทุนในต่างประเทศที่มีมากขึ้น ทั้งเรื่องของระบบ Settlement ที่ได้พัฒนามาเป็นระยะเวลานานเริ่มลงตัวมากขึ้น ความเข้าใจในการลงทุนที่มากขึ้นของนักลงทุนไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็น Aging Society ทำให้มีการออมสูงขึ้นทุกปี โดยมีงานวิจัยพบว่า ตัวเลขการเติบโตในกองทุนรวมของไทยจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจนถึงปี 2025 ทำให้ผู้จัดการกองทุนต่างก็เห็นโอกาสในการนำเงินของนักลงทุนไปกระจายการลงทุนให้เหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่องให้นักลงทุน ซึ่งทาง บลจ.ต่างก็ได้มีการวางแผนเพื่อหาโอกาสกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับนักลงทุนไทย
คุณบรรณรงค์ พิชญากร: โควิด-19 ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้นักลงทุนไทยหันไปสนใจการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ด้วย Sector ในไทยที่แตกต่างจากเทรนด์โลกที่กำลังเติบโตด้วยกลุ่ม IT และ ESG ซึ่งถือว่าทำผลงานได้ดีในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา
โดยตั้งแต่ปี 2003 จนถึงปี 2021 หุ้นไทยมีแนวโน้มที่ค่อนข้าง Side Way และยังไม่มีหุ้นที่สามารถผลักดันให้ตลาดเติบโตสูงมาก ๆ ได้ ขณะที่ตลาดอื่น ๆ ทั่วโลกดูเหมือนจะเป็นโอกาสสำหรับเรา ดังนั้น จึงมองว่าการกระจายความเสี่ยงไปต่างประเทศมีผลดีแน่นอน อีกทั้งด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในไทยที่มีความผ่อนคลายมากขึ้น ก็ช่วยผลักดันให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
ดร. จิติพล พฤกษาเมธานันท์: ในช่วงปี 2020-2022 จะเป็นปีที่ภาพการลงทุนเปลี่ยนไปสู่โลกไร้พรหมแดน ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน ได้แก่
1.) Deglobalization ปี 2020 เป้าหมายของประเทศทั่วโลกได้เปลี่ยนไป และความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศแต่ละประเทศเริ่มสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนตระหนักมากขึ้นว่า การลงทุนหรือผูกกระเป๋าไว้กับประเทศใดประเทศหนึ่งอาจไม่ใช่เรื่องดี
2.) Decentralization ปี 2021 นักลงทุนได้มีโอกาสลองการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น และไม่ยึดติดกับสินทรัพย์เดิม ๆ อีกต่อไป
3.) Disruption ปี 2022 เทคโนโลยีจะเริ่มเข้ามาคาบเกี่ยวหลาย ๆ อุตสาหกรรมมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงใน 3 เรื่องนี้ล้วนทำให้ตลาดทุนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด และทำให้แนวคิดของนักลงทุนเปลี่ยนแปลงไป การเลือกลงทุนหุ้นรายตัวอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเสมอไป แต่ต้องเป็นการเลือกธีมการลงทุนที่ถูกต้อง
เรื่องของมุมมองสัดส่วนการลงทุนที่เดิมมองว่าการลงทุนต่างประเทศไม่ปลอดภัย แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเหตุการณ์หลายอย่างทำให้เราเห็นว่าเราสามารถออกไปลงทุนข้างนอกได้ และได้ยังรับผลตอบแทนที่โดดเด่น นอกจากนี้ ในต่างประเทศอย่างอเมริกาหรือจีนที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ จึงทำให้มองว่า การเปิดโลกไร้พรหมแดนในรอบนี้เป็นโอกาสมากกว่าความเสี่ยงในการลงทุน
“ในมุมผู้จัดการกองทุน เข้าไปตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้อย่างไร”
คุณชวินดา หาญรัตนกุล: ในมุมของ บลจ. มองเห็นปัญหาของนักลงทุนรายย่อยในการก้าวไปลงทุนต่างประเทศ นั่นคือความเข้าใจในการลงทุน อีกทั้งมีประเด็นหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจ ทำให้ความเสี่ยงมีเยอะขึ้น จึงพยายามเข้าไปตอบโจทย์โดยสร้างช่องทางการเข้าถึงข้อมูล เพื่อให้นักลงทุนได้ศึกษาและยังเป็นช่องทางที่สามารถสื่อสารกับนักลงทุนได้อย่างแท้จริง
คุณบรรณรงค์ พิชญากร; ปัจจุบัน ทางเลือกสำหรับการลงทุนในต่างประเทศก็มีหลากหลายไม่ว่าจะเป็น
Foreign investment fund (FIF) ที่เหมาะกับคนที่ไม่มีเวลาและต้องการให้มืออาชีพช่วยดูแล ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเติบโตเยอะมาก
Exchange Traded Fund (ETF) มีข้อดีคือสามารถซื้อขายได้ Real Time เหมือนการซื้อหุ้น หรือการลงทุนผ่าน
Foreign Index Derivative Warrant (DW) ซึ่งเป็นตราสารที่ใช้เก็งกำไรโดยเฉพาะ นักลงทุนจึงต้องมีความเข้าใจอย่างมากก่อนเข้าไปลงทุน
Depositary Receipt (DR) ที่มีข้อจำกัดคือตอนนี้ยังมีแค่ตัวเดียวที่ลงทุนผ่าน ETF ของตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งเหมือนเป็นการยกทั้งตลาดเวียดนามมาอยู่ในตลาดไทย สามารถซื้อขายผ่าน Streaming ได้เลย
การซื้อหุ้นต่างประเทศโดยตรงไม่ว่าจะเป็นหุ้น QQQ, TESLA , APPLE หรือ TENCENT และอีกหลายตัว แต่การซื้อโดยตรงนี้ค่อนข้างมีต้นทุนเยอะ จึงเหมาะกับคนที่มีประสบการณ์ และมีพอร์ตใหญ่พอที่จะสามารถกระจายความเสี่ยงได้