ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้พูดถึงภาพรวมผลการประชุมของ กนง. เอาไว้ว่า กนง.ของไทยอาจไม่ได้กังวลเท่ากับธนาคารกลางของสหรัฐฯหรือ FED มากนัก แต่ที่หลายคนจับตาดูก็คือ กนง.มองภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างไร
ในเรื่องของแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้น ทางกนง.มองว่า ยังคงเป็นแนวโน้มที่ยังคงเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีเหตุการณ์รัสเซียกับยูเครนที่อาจส่งผลกระทบมาก แต่เมื่อเทียบกับปีที่แล้วอัตราการขยายตัวยังคงเติบโตเดินหน้าได้
ในส่วนของเงินเฟ้อ การประชุมรอบที่แล้ว กนง.ยังมองว่าเงินเฟ้ออยู่ที่ 1-3% ในรอบนี้ทางกนง.มองว่า อัตราเงินเฟ้อในปีนี้มีโอกาสเติบโตได้มากกว่า 3 % ด้วยกัน และมองว่าอัตราเงินเฟ้อครั้งนี้จะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเพียงแค่ชั่วคราว สรุปก็คือเศรษฐกิจไทยอาจมีการชะลอตัวลงไปบ้างและได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นการชั่วคราว
สำหรับเหตุผลที่ทำไมอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มที่ปรับตัวลดลงนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้มีการคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงมา ทำให้เงินเฟ้อมีการปรับตัวลดลงตามมาด้วย เรื่องของน้ำมันถือเป็นเรื่องคาดเดาได้ยากและมีโอกาสประมาณการได้ผิดพลาด
ส่วนการที่ภาครัฐยังคงเดินหน้าตรึงราคาน้ำมันต่อไปนั้น คิดว่าภาครัฐคงตรึงราคาน้ำมันได้ไม่นาน เพราะต้องใช้งบประมาณในการเข้าไปตรึงราคามหาศาล สิ่งที่ภาครัฐพอทำได้ก็คือ ภาครัฐต้องค่อย ๆ ปล่อยให้ราคาน้ำมันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อาจจะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นรุนแรงเกินไปจากการลดภาษีและมีกองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยพยุงส่วนหนึ่งด้วย ยังไงก็ตามทิศทางราคาน้ำมันก็ต้องเป็นทิศทางที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ในเรื่องของหนี้ครัวเรือนไทยที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่สูงที่สุดในเวลานี้ ในอนาคตจะต้องเอาตัวเลขตรงนี้ลงมาให้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ธนาคารแห่งประเทศไทยเพียงองค์กรเดียวเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย
หากมองว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาวะต้มกบหรือไม่นั้น ถ้าดูจากประมาณการของธนาคารกลางแห่งประเทศไทยแล้ว ประเทศไทยยังไม่มีโอกาสเข้าสู่ภาวะ Stagflation และยังมีโอกาสเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่าเงินเฟ้อนี้เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราว ตัวเลขเศรษฐกิจไทยยังคงมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไปได้