ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้พูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศศรีลังกาว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ประเทศศรีลังกาได้รับเอกราชมา เป็นวิกฤติที่เรียกได้ว่าร้ายแรงกว่าที่ใครหลายคนจะจินตนาการได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำมันขาดแคลน ประชาชนแห่รอซื้อน้ำมัน ข่าวที่มีการแชร์กันมากในประเทศศรีลังกาก็คือ มีคนเสียชีวิตระหว่างที่รอซื้อน้ำมัน ถือเป็นข่าวที่น่าสลดหดหู่เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามสงครามครั้งนี้ก็อาจนำพาประเทศศรีลังกาไปสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศ ที่ผ่านมาประเทศศรีลังกามีปัญหาแตกแยกภายในมานานระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา แต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ทำให้ประชาชนชาวศรีลังกาที่หันมารวมกันเป็นหนึ่งเพื่อต่อต้านผู้นำประเทศ และด้วยประเทศศรีลังกามีภูมิศาสตร์ที่ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สุดท้ายอาจทำให้ศรีลังกาเติบโตจนกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของเอเชียใต้ก็เป็นได้
คำถามที่ว่า การที่จีนกับอินเดียเป็นความหวังสำคัญของศรีลังกานั้น มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างศรีลังกากับอินเดียยังคงมีความแนบแน่นเพราะอยู่ติดกัน อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือกับศรีลังกาในการให้กู้และทำสัญญาขายน้ำมันในราคาถูกและอินเดียต้องการรักษาสถานะเป็นพี่ใหญ่คอยดูแลประเทศในเอเชียใต้ แต่จีนเองก็เป็นอีกประเทศที่เข้ามาให้การช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่าเรือ และการให้กู้ยืมเงิน ทั้งจีนและอินเดียจึงน่าจะเป็นความหวังหนึ่งที่ทำให้ศรีลังการอดพ้นจากภาวะล้มละลาย
สำหรับการกู้ยืมกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF นั้น แม้ที่ผ่านมาประเทศศรีลังกาจะเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจกับโควิด-19 แต่เพราะศรีลังกาไม่อยากอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และจีนที่ไม่อยากปล่อยให้สถาบันการเงินที่มีอิทธิพลของชาติตะวันตกเข้ามาครอบงำศรีลังกาเพราะอย่างที่ทราบกันว่า ศรีลังกามีความสนิทชิดเชื้อกับจีน จนกระทั่งโลกมาเจอกับวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนแล้วไปพันกับเรื่องของพลังงาน ทำให้เรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศศรีลังกาดูจะเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสมากขึ้น จนทำให้ศรีลังกาต้องตัดสินใจเข้ามาทำการกู้ยืมเงินกับ IMF เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศศรีลังกาอยู่รอดต่อไปได้