ทำไมนักลงทุนรายย่อยถึงขนาดทุนตลอด? The little book of common sense

5031

ศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนักลงทุนคือ อารมณ์ของตัวเองและค่าธรรมเนียมในการลงทุน

 

เป็นคำพูดแทงใจดำของปู่ John C. Bogle บิดาผู้ก่อตั้ง Index Fund และผู้ก่อตั้งกองทุน Vanguard บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชื่อดังที่มีมูลค่าสินทรัพย์การจัดการสูงถึง 5.3 ล้านล้านเหรียญครับ!

 

แนวคิดการลงทุนของเค้าโดดเด่น ถึงขั้นทำให้คุณปู่บัฟเฟตต์ออกตัวแรง แทนที่จะมัวแต่จะฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญการลงทุน หรือนักลงทุนคนอื่น ๆ (เพียงอย่างเดียว)” “สิ่งที่คุณควรทำคือ การอ่านหนังสือของ Bogle”

 

โอ้โห… ปู่บัฟเฟตต์ บิดานักลงทุนหุ้นคุณค่าชื่อดังระดับโลกพูดขนาดนี้ ต้องจัดซะหน่อยครับ

 

พอได้อ่านหนังสือของปู่ Bogle “ The little Book of Common Sense Investing” ทำให้ผมเข้าใจเลยครับว่าทำไมปู่ถึงเชียร์ขนาดนี้ และเข้าใจเลยว่าทำไมนักลงทุนส่วนใหญ่ถึงขาดทุน

 

มาลุยกันเลยครับ

 

==============

 

1. การพยายามเอาชนะตลาดในระยะสั้นเป็นเกมของผู้แพ้

 

“การลงทุนในตลาดหุ้นระยะยาว เป็นเกมของผู้ชนะ” “แต่การที่พยายามจะเอาชนะตลาด (ในระยะสั้น) เป็นเกมของผู้แพ้” คำพูดของคุณปู่ Bogle โดนใจมากครับ

 

แกขยายความว่า ผลตอบแทนการลงทุนของเรามาจาก 2 ส่วนครับ

ส่วนแรกมาจากพื้นฐานธุรกิจจริง ๆ (เงินปันผลและการเติบโตของกำไร)

 

และส่วนที่ 2 มาจากการเก็งกำไร (ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของนักลงทุนในแต่ละช่วงเวลา สังเกตจากค่า P/E ของหุ้นที่ขึ้น ๆ ลง ๆ)

 

“ตามสถิติที่ผ่านมาผลตอบแทนของหุ้นที่มาจากพื้นฐานธุรกิจจริง ๆให้ผลตอบแทน 9.5%” “ในขณะที่กำไรจากการเก็งกำไรให้ผลตอบแทนเพียง 0.5% เท่านั้น”

 

ทำไมการพยายามชนะตลาดในระยะสั้น ถึงเป็นเกมของผู้แพ้ครับ? ผมยกตัวอย่าง อย่างนี้ครับ

 

ช่วงที่นักลงทุนมีอารมณ์ตื่นเต้นกับหุ้นตัวใดตัวนึง ก็จะรู้สึกกลัวตกรถและคิดว่าตัวเองจะสามารถเอาชนะตลาดได้ ยอมกระโดดเข้าไปซื้อหุ้น ราคาแพง ยอมจ่ายหุ้นที่ค่า P/E สูง

 

พอผลประกอบการของธุรกิจไม่เติบโตมากตามความคาดหวัง ราคาหุ้นก็ถูกเทขาย เราก็มักจะติดดอยไปตามระเบียบ เพราะซื้อหุ้นราคาแพงเกินพื้นฐานที่ควรจะเป็น (ใครเคยเจอแบบนี้บ้าง มาคอมเม้นท์เล่าให้ฟังบ้างนะครับ)

 

และอย่าลืมว่า ธรรมชาติของคน เรามักจะคิดเข้าข้างว่าตัวเราเก่ง คิดว่าเราสามารถชนะตลาดได้ จะยิ่งทำให้เราซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นตลอดเวลา นั่นหมายความว่า โอกาสขาดทุนก็จะยิ่งสูงขึ้นครับ

 

และนี่คือ สิ่งที่ปู่ Bogle บอกว่า การที่พยายามจะเอาชนะตลาด  (ในระยะสั้น) เป็นเกมของผู้แพ้

 

วิธีแก้คือ การถือหุ้นระยะยาวครับ เพราะจะทำให้เราผ่านพ้นช่วงที่ตลาดผันผวนตามอารมณ์ของเราได้

 

และเมื่อเวลาผ่านไปก็จะทำให้หุ้นเติบโต ตามผลประกอบการที่ดีขึ้น นั่นเองครับ

 

 

==============

 

2. คิดว่าค่าธรรมเนียมต่อปีไม่แพง

 

“ผลตอบแทนของกองทุนที่ดี มาแล้วก็จากไป (ผลตอบแทนดีแค่ชั่วครั้งชั่วคราว)” “แต่สิ่งที่จะอยู่ (คู่กับนักลงทุน) ไปตลอดคือต้นทุนของการลงทุนครับ”

 

มีประโยคนึงของปู่ Bogle ที่ผมชอบมากครับ ปู่บอกว่า “สำหรับผลตอบแทน ยิ่งลงทุนนานเท่าไหร่ เวลาจะเป็นเพื่อนของคุณมากเท่านั้น (พลังดอกเบี้ยทบต้นจะทำให้พอร์ตเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะยาว)

 

แต่ถ้าเป็นฝั่งต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย ระยะเวลาจะเป็นศัตรูตัวฉกาจ (ปกติจะมีค่าธรรมเนียมปีละ 2-4%)

 

มาดูตัวอย่างกันครับ แวบแรกเราอาจจะคิดว่าค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนรวม ๆ ปีละ 2% เป็นตัวเลขที่ไม่มาก (เช่น ค่าธรรมเนียมซื้อ-ขาย, ค่าบริหารจัดการ, ภาษี) น่าจะคุ้มกับความคาดหวังว่าผู้จัดการกองทุนจะทำผลตอบแทนที่มากกว่าตลาดได้

 

“ถ้าเราลงทุนเริ่มต้น 1 หมื่นเหรียญ เมื่อเปรียบเทียบกองทุนที่ไม่เสียค่าธรรมเนียม กับกองทุนที่เสียปีละ 2%” ในช่วงไม่กี่ปีแรก แทบจะให้ผลตอบแทนไม่ต่างกันครับ

 

“แต่เมื่อเวลาผ่านไป 50 ปี ผลตอบแทนทั้งสองกองต่างกันเกือบ 3 เท่าตัว” คุณปู่ Bogle ถึงบอกว่าถ้าเป็นฝั่งต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย ระยะเวลาจะเป็นศัตรูตัวฉกาจ (ระยะเวลายิ่งนาน ต้นทุนยิ่งมีมูลค่าสูงขึ้นตามพลังดอกเบี้ยทบต้น)

 

เพราะฉะนั้นถ้าจะเลือกลงทุนต้องมองหากองทุนที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำ ๆ นั่นคือคำแนะนำนำของปู่ Bogle ครับ

 

(ส่วนถ้าอยากทำความเข้าใจว่าค่าธรรมเนียมเวลาที่ซื้อกองทุนมีอะไรบ้าง และเทคนิคการเลือกกองทุนยังไงให้ได้กำไรมากขึ้น

 

เข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่เลยครับ 🙂

 

http://bit.ly/2KxwJv3

 

 

==============

 

3. เลือกลงทุนจากผลตอบแทนในอดีต

 

ปกติเวลาซื้อกองทุนจะดูอะไรกันบ้างครับ? ผมว่าร้อยทั้งร้อย คงต้องเช็คผลตอบแทนในอดีตของกองทุนด้วยใช่ไหมครับ

 

ปู่ Bogle ย้ำหลายรอบครับว่า “ผลตอบแทนย้อนหลังบอกเราได้ว่าเคยเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต” ผมเห็นด้วยเลยครับ

 

“จะเห็นว่ากองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในช่วง 2006-2011 เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี จะเหลือกองทุนที่ยังมีผลงานยอดเยี่ยมเพียง 13%”

 

“แต่สัดส่วนกว่า 27% ของกลุ่มที่เคยเป็นผู้ชนะ เคยให้ผลตอบแทนที่ดี เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปีจะกลายเป็นกลุ่มกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ต่ำที่สุด อย่างไม่น่าเชื่อครับ”

 

ในทางตรงกันข้ามกองทุนที่เคยถูกจัดอันดับว่าเป็นผู้แพ้ เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี จะกลายเป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดมากถึงสัดส่วน 17% ครับ

 

และยิ่งพอหันกลับมาดูสถิติของกองทุนในไทย ก็น่าตกใจครับ (อ้างอิงจาก http://bit.ly/304jnvL )

 

“ในช่วง 2541-2550 สัดส่วน 77% ของกองทุนหุ้นของไทยทั้งหมด ทำผลตอบแทนได้แย่กว่าตลาดเกิน 1% และน่าตกใจที่มีกองทุนปิดตัวไปมากถึง 41.4%”

 

เช่นเดียวกับช่วงปี 2529-2540 ที่สัดส่วน 83% ของกองทุนหุ้นไทยทั้งหมด ทำผลตอบแทนได้แย่กว่าตลาดเกิน 1% และน่าแปลกใจที่กองทุนไทยปิดตัวมากถึงครึ่งหนึ่งครับ

 

อะไรคือสิ่งที่อธิบายสถิตินี้ได้ครับ?

 

ปู่ Bogle ชวนตั้งคำถามว่า “เคยสังเกตไหมว่า ปกติแล้วนักลงทุนมักจะซื้อกองทุนในช่วงที่ผลตอบแทนดี ๆ” “และมักจะขายช่วงผลตอบแทนกองนั้นแย่ลง”

 

โห ชัดเลยครับ เพราะถ้ากองทุนไหนที่ให้ผลตอบแทนดี ในสมองของเราก็จะคิดว่าเค้าเก่ง เราก็คงอยากจะฝากความหวังผลตอบแทนในอนาคตไว้กับกองนั้น ๆ เราก็จัดไปเต็ม ๆ ซื้อเต็มเหนี่ยว

 

แต่ความเป็นจริง มันจะเกิดปัญหาที่ปู่บัฟเฟตต์บอกแหละครับว่า “กระเป๋าตังค์อ้วน ๆ เป็นศัตรูของการสร้างผลตอบแทน” พูดง่าย ๆ คือ พวกกองทุนมีตังค์เยอะขึ้น ก็เริ่มจะอุ้ยอ้าย บริหารจัดการยากขึ้น และตัวเลือกในการลงทุนก็จะน้อยลง ทำให้ผลตอบแทนที่เคยดี ก็อาจจะแย่ได้

 

หรือในช่วงที่หุ้นร่วงหนัก แทนที่กองทุนจะเอาตังค์ไปซื้อหุ้นพื้นฐานดีที่ราคาถูก แต่ก็ทำไม่ได้เพราะนักลงทุนถอนเงินออกหมด

 

อีกกรณีคือ ตามธรรมชาติการลงทุน กลยุทธ์ที่เคยลงทุนแล้วได้กำไรช่วงหนึ่ง ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จตลอดไป (เพราะตลาดเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา) และด้วยความใหญ่ของกองทุน ก็จะยิ่งขยับตัวเปลี่ยนกลยุทธ์ลงทุนยากทำให้ผลตอบแทนก็มีโอกาสแย่ลง

 

และอย่าลืมว่าผู้จัดการกองทุนเก่ง ๆ อาจจะไม่ได้อยู่กับกองทุนที่เป็นผู้ชนะนั้นตลอดไป ทำให้เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ควรเลือกลงทุนโดยดูจากผลตอบแทนในอดีต (เพียงอย่างเดียว) ครับ

 

 

==============

 

4. อารมณ์คือจุดอ่อนของนักลงทุน

 

ปู่ Bogle ยกตัวอย่างเหตุการณ์หลายครั้งที่ชี้ให้เห็นว่าพวกเรานักลงทุนรายย่อย ชอบโลภ ชอบจัดหนัก ลงทุนหมดหน้าตักในช่วงที่ตลาดเต็มไปด้วยข่าวดี

 

“เช่น ในช่วงปี 1999 และ 2000 ช่วงนั้นทุกคนตื่นเต้นกับหุ้นเทคโนโลยี หุ้นนวัตกรรม หุ้นอุตสาหกรรมใหม่ ๆ”

 

ช่วงนั้นมีแต่ข่าวดี บอกว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนโลกอย่างนั้น อย่างนี้ ทำให้นักลงทุนรายย่อยเอาเงินที่เก็บออมาทั้งชีวิตไปลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ และนั่นคือจุดพีค จุดสูงสุดของรอบเลยครับ ซักพักฟองสบู่ก็แตกครับ

 

หลังจากนั้น 2 ปี นักลงทุนรายย่อยทนไม่ไหวก็ขายหุ้นออกมา อาจจะเป็นเพราะความเบื่อ ทนไม่ไหว กลัวว่าหุ้นจะลงไปมากกว่านี้ ปรากฏว่าราคาที่เราขายกลับเป็นจุดต่ำสุดของรอบนั้น อีกแปบเดียวหุ้นก็วิ่งเป็นกระทิง

 

“อีกเหตุการณ์ที่เป็นตัวอย่างที่ดีคือช่วงก่อนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008” เป็นช่วงที่นักลงทุนมองโลกสดใส จัดหนักจัดเต็ม เต็มไปด้วยความโลภ สุดท้ายก็ดอยหนักมาก เพราะตลาดหุ้นเจอวิกฤติ

 

และเรื่องน่าเศร้าคือ ตลาดหุ้นช่วงวิกฤติจะทำให้นักลงทุนรายย่อยเบื่อ รู้สึกเซ็งกับชีวิต สุดท้ายก็ยอมขายออกมา ปรากฏว่าวงจรเดิม ๆ ก็กลับมา ณ จุดที่เราขาย กลับกลายเป็นจุดต่ำสุด

 

“ตลาดหุ้นดีดกลับรวดเดียว 250% จากจุดต่ำสุด” (รายย่อยที่ขายไป ยิ่งเซ็งกว่าเดิมอีก ใครเคยเจอบ้างครับ?)

 

 

==============

 

5. นักลงทุนชอบเล่นท่ายาก

 

“อย่าพยายามงมเข็มในกองฟาง แต่ให้ซื้อกองฟางทั้งกองเลย” ช่างเปรียบเปรยเสียจริงครับปู่ Bogle

 

แก อธิบายว่าสิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่ทำ คือ เราจะพยายามเลือกหาหุ้นหรือกองทุนที่เอาชนะตลาดได้ ให้ผลตอบแทนที่ดีเสมอ ๆ ซึ่งมันยากมากกว่าการงมเข็ม (เล็ก ๆ) ในกองฟาง

 

หรือบางคนก็เลือกที่จะลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่ซับซ้อนเพื่อหวังอยากได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น และนั่นหมายถึง ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นและความเสี่ยงที่มากขึ้นตามไปด้วย

 

ปู่ Bogle แนะนำให้ซื้อทั้งตลาดหุ้นทั้งดัชนีไปเลยครับ ไม่ต้องเสียเวลาหาหุ้นหรือกองทุนที่ชนะตลาด “หลีกเลี่ยงความยุ่งยากซับซ้อน แต่จงเลือกลงทุนแบบง่าย ๆ แล้วการลงทุนจะประสบความสำเร็จ”

 

สูตรในการลงทุนให้ประสบความสำเร็จตามสไตล์ของแกคือการซื้อหุ้นทั้งตลาด ผ่าน Index Fund แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย ขอให้ถือไว้ตลอดไป ถือให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

หลักการของ Index Fund หรือกองทุนดัชนี ที่เป็นเหมือนตะกร้าหุ้นครับ ที่ผู้จัดการกองทุนซื้อหุ้นหลายสิบตัว หรือหลายร้อยตัวก็ได้ โดยอิงกับดัชนี ขึ้นอยู่ว่าอิงดัชนีอะไร เพื่อให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีที่ลงทุนอยู่ครับ

 

เช่น กองทุนของปู่ Bogle ที่เป็นกองทุนดัชนีแรกของโลก (ก่อตั้งในปี 1976) ก็จะเน้นลงทุนตามดัชนีหุ้น S&P500 โดยมีจุดเด่นค่าธรรมเนียมต่ำที่สุดในโลก

 

หลัก ๆ แล้วกองทุนประเภทนี้ตั้งใจอยากจะให้ผลตอบแทนอิงไปกับตลาด ถ้าตลาดหุ้นสหรัฐขึ้น กองทุนก็ขึ้นครับ แต่ถ้าตลาดหุ้นสหรัฐร่วง กองทุนก็ร่วงตามครับ

 

ประโยชน์อีกข้อ ของกองทุนประเภทนี้คือการลดความเสี่ยง ลดความผันผวนครับ เพราะเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นหลายตัว (บางช่วงหุ้นหลายตัวอาจจะร่วงหนัก แต่ก็จะมีอีกหลายตัวที่บวกได้ เพราะฉะนั้นในภาพรวมก็จะช่วยพยุงพอร์ตไว้ได้ครับ)

 

 

==============

 

ความเห็นของ ถามอีก กับอิก

 

หลักการที่ปู่ Bogle เขียนมาในหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด คือ “Successful investing is all about common sense” การลงทุนที่ประสบความสำเร็จ จริง ๆ เป็นเรื่องที่ง่าย ๆ เหมือนเรื่อง common sense ที่ใครก็รู้

 

ฟังดูง่ายครับ แต่ถึงเวลาลงสนามจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด

 

เพราะทุกคนมีความโลภและความกลัว ปัญหาที่คนส่วนใหญ่เจอคือ

 

เลือกที่จะลงทุนเองในหุ้นรายตัว ตั้งเป้าว่าจะเลือกหุ้นที่เป็นผู้ชนะ ได้ผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ แต่สุดท้ายเลือกผิดตัวบ้าง ซื้อแพงขายถูกบ้าง ขาดทุนกันไปก็เยอะ

 

หรือเลือกอีกทาง ลงทุนในกองทุนละกัน แต่สุดท้ายก็เจอปัญหาคล้าย ๆ กัน คือเลือกผิดกอง พอซื้อปุ๊บ ผลตอบแทนแย่ลงทันที ยังไม่นับว่าต้องเสียค่าธรรมเนียมมหาศาลในระยะยาว

 

ปู่ Bogle บอกไว้ตอนต้นว่า “ศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนักลงทุนคือ อารมณ์ของตัวเองและค่าธรรมเนียมในการลงทุน”

 

ปู่ Bogle ถึงได้เสนอแนวคิดการลงทุนอีกแนว แบบซื้อมันทั้งหมดเลย แบบสม่ำเสมอ หรือ Index Fund ที่น่าจะช่วยตอบโจทย์ได้ โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยที่อาจจะไม่มีเวลาในการศึกษาและติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดครับ

 

 

สไตล์การลงทุนสไตล์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนแบบ Passive Investment ครับ ซึ่งใครที่สนใจหาข้อมูลเพิ่มเติม แนะนำให้สมัครรับ email ความรู้การลงทุนแนวนี้เพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้

 

http://bit.ly/2Yd8rz3

 

เป็นข้อมูลจาก Passive Way ครับ

 

ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุน ลงทุนมีความสุขครับ นี่คือ “ถามอีก กับอิก” ครับ ☺

Picture of TAM-EIG

TAM-EIG

5031

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
error: Content is protected !!