*สัมภาษณ์วันที่ 7 ธันวาคม 2564
สะท้อนมุมมองจาก 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
จากที่ ก.ล.ต. ได้ออกมาเปิดรับฟังความคิดเห็น ห้ามผจก. กองทุนคริปโตลงทุนและวิเคราะห์ DeFi มองว่า ก.ล.ต. ต้องนิยามและให้ขอบเขตของคำว่า DeFi ก่อน เพราะความหมายของ DeFi นั้นกว้างมาก อีกทั้งตอนนี้ DeFi เพิ่งอยู่ในระยะที่กำลังค้นหาตัวเองและหาแนวทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์และความยั่งยืนในระยะยาว จึงมีคำถามว่า การออกกฎห้ามอาจจะทำให้การพัฒนาหลาย ๆ อย่างไม่เกิดขึ้นเลยตั้งแต่ต้นเลยหรือไม่
สำหรับ ผจก.กองทุน หาก ก.ล.ต.ออกมาห้ามลักษณะนี้จริง อาจจะเป็นวิธีที่ทำให้ธุรกิจน้ำดีหายไป ในขณะที่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งคนที่ทำทุจริตได้ มองว่าเป็นการ “เกาไม่ถูกที่คัน” เพราะ การที่จะเกิดน้ำดีขึ้นได้ ต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อก่อน กลับกัน ถ้ามีการเปิดโอกาสให้คนแข่งกันอย่างโปร่งใส สุดท้ายน้ำดีจะไล่น้ำเสียได้เอง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ ๆ คือหลายทีมที่เก่งก็จะหาช่องทางอื่น เช่น ไปเปิดธุรกิจต่างประเทศ ทั้งที่เดิมก็มีมีความตั้งใจดีที่จะมาทำธุรกิจเพื่อเป็นโอกาสให้คนไทย และฝั่งนักลงทุน ถ้า ก.ล.ต. คำนึงถึงความปลอดภัยของนักลงทุนเป็นหลักจริง การที่ให้นักลงทุนมีโอกาสได้ฟัง KOL (Key Opinion Leader) ในไทยน่าจะดีกว่าให้นักลงทุนออกไปฟังของต่างประเทศหรือไม่ เพราะเราจะไม่สามารถควบคุม KOL ในต่างประเทศได้เลย และ เรื่องของ DeFi ที่ยังใหม่มากและมีความซับซ้อน ถ้าห้ามที่ปรึกษาหรือห้ามให้คำแนะนำ มองว่าเป็นการเสียโอกาสด้านความรู้ สุดท้าย รายย่อยก็ต้องไปเสี่ยงดวงเอาเอง กลายเป็นภาพว่านักลงทุนอยากลงแต่ไม่มีใครมาให้ความรู้
ไทยกำลังฝืนกระแสโลก
ดูเหมือนทั้งโลกกำลังวิ่งเข้าหา Decentralization จริงๆ แล้ว หลาย DeFi Protocal 5 อันดับต้น ๆ ก็มาจากไทย แปลว่าทั้งโลกและไทยเองก็ให้ความสนใจใน DeFi กันเยอะมาก เป็นเทรนด์ที่กำลังมาทั้งโลก ดังนั้น ถ้าเราจะบอกว่ามันอันตราย และกลับไปหาตัวกลางแบบเดิม ๆ มองว่าอาจเป็นการฝืนกระแสโลก
ก.ล.ต. ควรมีบทบาทอย่างไรกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป?
มีกรณีศึกษาหนึ่งในเกาหลีที่รัฐบาลตั้ง “เขตปลอดกฎระเบียบพิเศษ” ขึ้นมา ซึ่งเป็นเหมือน Digital Asset Sandbox ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้นักพัฒนามีโอกาสได้ทดลองทำธุรกิจที่เกี่ยวกับคริปโต และรัฐบาลคอยจับตาดู ทำให้มี Start Up มากมายเข้ามาทดลองทำธุรกิจในพื้นที่แห่งนี้ จึงมองว่า รัฐไม่ควรตั้งกรอบเร็วเกินไป และต้องมาถกกันอย่างจริงจังว่าเราควรจะไปทิศทางไหนกันดีกว่า
